ไม่พบผลการค้นหา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน แต่ ธปท.ชี้ยังไม่เข้านิยามเงินฝืด ทั้งนี้ โควิด-19 กระทบประชาชนไม่กล้าใช้เงิน กังวลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงในหน้าที่การงาน

ตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมา ในสัดส่วนร้อยละ 0.54, 2.99 และล่าสุดที่ระดับ 3.44 ตัวเลขเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจหรือสะท้อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI)

ตามนิยาม เงินเฟ้อ (Inflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม เงินฝืด (Deflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดลง ซึ่งระบุได้จากระดับเงินเฟ้อที่ติดลบ นอกจากนี้ ศัพท์ที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดความสับสนอยู่บ่อยครั้งอย่าง ภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) แท้จริงแล้วหมายถึงการหดตัวของอัตราเงินเฟ้อภายใต้เงื่อนไขว่าไม่ใช่การติดลบ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา (Stagflation) เป็นเครื่องบ่งชี้สภาวการณ์ของเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อติดลบและอัตราการจ้างงานต่ำมากๆ ในเวลาเดียวกัน

แม้ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์จะออกมาเป็นลบต่อเนื่อง แต่คำอธิบายจากนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินอ้างอิงนิยามภาวะเงินฝืดจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า การจะเข้าสู่ภาวะดังกล่าวต้องมี 4 ปัจจัยสำคัญ

ประกอบไปด้วย 1.อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร 2.อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายตัวในหลายหมวดสินค้า 3.การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวกรอบ 5 ปี ต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ และ 4.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบและมีแนวโน้มการว่างงานสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขข้างต้น ผอ.อาวุโสฯ แบงก์ชาติ อธิบายว่าสภาวะปัจจุบันจึงไม่นับว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ เพราะตัวเลขที่ติดลบของกระทรวงพาณิชย์เป็นผลมาจากราคาพลังงานเป็นหลัก นอกจากนี้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 5 ปี ที่ ธปท.ประเมินยังคงเป็นบวกอยู่


ไม่เข้า 'นิยาม' แต่สัมผัสใน 'โลกจริง'

แม้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามนิยาม อย่างไรก็ตาม หากลงไปดูที่วัฏจักรเงินเฟ้อ ประชาชนอาจจะเห็นสิ่งบ่งชี้หลายอย่าง 

ธ.ก.ส. ธนาคาร สาขา ประชาชน

ในสถานการณ์ปกติ ราคาสินค้าและบริการหนึ่งๆ อาจลดลงมาได้ เมื่อตลาดมีการแข่งขันสูงด้วยสินค้าและบริการที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้บริโภคมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างแต่ละสินค้า ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างความโดดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองก็อาจต้องหันไปใช้กลยุทธ์การลดราคาเข้าสู้ นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า เมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) นวัตกรรมต่างๆ ระหว่างสายการผลิตถูกพัฒนาให้ดีขึ้นจนต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ประกอบการจึงสามารถมาลดราคาสินค้าลงได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์การเกิดภาวะเงินฝืดมักไม่เป็นไปในกรณีข้างต้น แต่เกิดขึ้นจากวิกฤตต่างๆ ที่ไปกระทบเศรษฐกิจภาพรวม เช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์การเงินช่วงปี 2551 หรือปลายทศวรรษ 90 เชื่อมศตวรรษ 2000 ที่ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดจากปัญหาฟองสบู่ 


เงินฝืดที่เกิดจากวิกฤตเหล่านี้ กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศเป็นวงกว้างและเป็นวงกลม กล่าวคือ ผลกระทบจะซ้ำเติมซึ่งกันไปมา อาทิ สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดวิกฤตโรคระบาด รัฐบาลจำเป็นต้องสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการเหล่านี้แม้จะมีการเยียวยาเข้าช่วยก็สร้างภาระและความลำบากให้กับประชาชนและเอกชนอยู่ดี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทยที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักล้มลงทันทีเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ ปัญหานี้ทำให้หลายบริษัทต้องปรับลดคนงานหรือลดเงินเดือนพนักงานเพื่อลดต้นทุนการดำเนินกิจการ แม้แต่ประชาชนที่ยังไม่ตกงานก็เริ่มหวาดกลัวถึงความไม่มั่นคงของบริษัทตนเอง

สิ่งนี้ส่งผลต่อระดับการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า การบริโภค (Consumption) ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตกต่ำลงมาตลอด และแม้ผลรวมในเดือน พ.ค.จะปรับตัวสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่เมื่อไปมองที่ความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจและโอกาสในการหาเงินทำ ประชาชนมากกว่าครึ่งยังมองแง่ลบ

เมื่อประชาชนขาดความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจและสถานะทางการเงินซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับความมั่นคงของหน้าที่การงาน การใช้จ่ายก็จะลดลง ฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าจึงเผชิญหน้ากับความยากลำบากและจำเป็นต้องลดราคาขายลงมาตามเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับไปใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ความลำบากในภาวะ(เสมือน)เงินฝืดเช่นนี้ คือแม้ผู้ประกอบการจะลดราคาแล้วหรือรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือบ้าง ประชาชนก็ยังไม่กล้าใช้เงินอยู่ดี ซ้ำร้าย ประชาชนกลุ่มหนึ่งของประเทศอาจไม่มีเงินให้ใช้ด้วยซ้ำเพราะทั้งตกงานและอาจเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือของรัฐบาล 

สุดารัตน์แจกข้าวคนตกงาน

เมื่ิอกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ ขณะนี้มีจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบและถูกเลิกจ้างกว่า 7 ล้านคน โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน จะทำให้แรงงานตกงานถึง 10 ล้านคน

ภาวะเงินฝืดจึงกลายเป็นวัฏจักรที่ทำร้ายผู้คนในวังวนไปมา ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องใช้เวลานับ 10 ปี เพื่อแก้ปัญาเงินฝืดของประเทศ ที่ประชาชนไม่กล้าออกมาใช้เงินแม้รัฐบาลและเอกชนจะร่วมกันกระตุ้นอย่างหนัก จนช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า 'ทศวรรษที่สาบสูญ'

ในมิติภาพรวมของประเทศ การที่ผู้บริโภคไม่กล้าใช้เงินจะส่งผลกระทบไปถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เช่นกัน ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศเป็นหลักผ่านการท่องเที่ยวที่มีอุปสงค์มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการส่งออกที่พึ่งผู้สั่งสินค้าจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ตัวเลขการส่งออกหดตัวเพราะอุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอ ด้านตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ลดลง 100 เปอร์เซ็นต์เพราะมาตรการปิดน่านฟ้าต่างๆ ประเทศจึงขาดที่พึ่งสำคัญทางเศรษฐกิจและต้องกลับมาพึ่งการใช้จ่ายในประเทศ แต่เพราะประชาชนไม่กล้าใช้เงิน ความหวังนี้จึงถูกปัดตกไป 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืดส่งผลกระทบกับมูลค่าเงินที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงอำนาจการซื้อสินค้าและบริการ เมื่ออยู่ในภาวะเงินฝืด มูลค่าเงินจะเพิ่มขึ้นหรือหมายความว่า เงิน 1 บาท จะซื้อสินค้าและบริการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่ามูลค่าหนี้ของลูกหนี้จะเพิ่มขึ้นด้วย และย้อนกลับเข้าสู่วัฏจักรเดิมอีกครั้ง เมื่อประชาชนมีมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้น ก็ต้องแบ่งเงินที่จะใช้จ่ายลงอีก ประกอบกับการมีหนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี โอกาสหางานต่ำแต่ความไม่มั่นคงสูง ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค

วัฏจักรเงินฝืดจึงตอบคำถามว่า เหตุใดทั้งๆ ที่ราคาสินค้าและบริการในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง แต่ประชาชนในภาพรวมกลับยังไม่กล้าออกมาใช้จ่าย เนื่องจากแท้จริงแล้วนอกจากความกังวลเรื่องสภาพคล่อง ผู้บริโภคส่วนหนึ่งแทบไม่เหลือเงินจะใช้จ่ายแล้วจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาด

อ้างอิง; ECB, Investopedia, FP, IMF



ข่าวที่เกี่ยวข้อง;