ไม่พบผลการค้นหา
ไต้หวันเตรียมร่วมเวทีการประชุมประชาธิปไตยหลังได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการจากสหรัฐอเมริกา สัญญาณชัดที่แสดงออกถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยในไต้หวันบนเวทีสำคัญที่ชาติมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย 'ไม่ถูกเชิญ'

สำนักข่าว VOA รายงานว่าในวันที่ 9-10 ธ.ค.นี้ ผู้นำและผู้แทนจากมากกว่า 100 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนของหน่วยงานและองค์กรสำคัญจากทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตย 'Summit for Democracy' โดย เสี่ยว ปี้-ขิ่ม ผู้แทนไต้หวันประจำสหรัฐฯ หรือทูตจากไต้หวันในทางพฤตินัย พร้อมด้วยออเดรย์ แทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันจะเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ 

'Summit for Democracy'  คืองานประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยที่ โจ ไบเดน ลั่นวาจาไว้ในการแถลงนโยบายต่างประเทศเมื่อเดือน ก.พ.ว่า ต้องการที่จะจัดขึ้นเพื่อผนึกกำลังของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ในการต่อสู้กับความพยายามในการกัดกร่อนประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของผู้คนทั่วโลก และเพื่อที่จะนำพาสหรัฐฯ กลับมาสู่สถานะผู้นำชาติประชาธิปไตยเพื่อรับมือกับอำนาจเผด็จการที่นำโดย 'จีน' และ 'รัสเซีย'

สำนักข่าว Reuters รายงานว่ามีทั้งหมด 110 ประเทศที่ได้รับการเชิญจากสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วม โดยเป็นที่ชัดเจนว่าชาติมหาอำนาจอย่างจีน และรัสเซียนั้นไม่ได้รับการเชิญ ขณะที่ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่เป็น "ประชาธิปไตย" แต่ก็ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเช่นกัน

ไช่อิงเหวิน.jpg


ไต้หวันควรได้รับการปฏิบัติในฐานะ 'ประเทศ'

"การประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยครั้งนี้คือการที่ทำเนียบขาวส่งสัญญาณว่า ชาติประชาธิปไตยทั้งหลายต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน และต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย" หวัง ทิงยู่ สมาชิกรัฐสภาของไต้หวัน ผู้ทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการป้องกันประเทศกล่าว

หวังยังย้ำด้วยว่า 'คำเชิญจากทำเนียบขาว' คือสัญญาณที่ชัดเจนที่ส่งไปยังรัฐบาลปักกิ่งว่าไต้หวันคือ 'พันธมิตรอันใกล้ชิด' และสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติในฐานะ 'ประเทศ' ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง 15 ประเทศและนครวาติกันเท่านั้นที่ยอมรับการเป็นประเทศของไต้หวัน 

แม้ไต้หวันจะเผชิญกับการถูกกีดกันและแบ่งแยกบนเวทีนานาชาติในหลายแง่มุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการจัดอันดับของความเป็นประชาธิปไตยนั้น ชื่อของไต้หวันติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเสมอมา โดยการจัดอันดับดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของ Economist Intelligence Unit ประจำปี 2563 ชี้ว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชียตะวันออก และอันดับที่ 11 ของโลกเลยทีเดียว


จีนไม่พอใจ สัมพันธ์แนบแน่น สหรัฐฯ-ไต้หวัน

แม้สหรัฐฯ และไต้หวันจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกัน แต่การให้ความช่วยเหลือในฐานะพันธมิตรนั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และมีความเข้มข้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ไต้หวันได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้ทำข้อตกลงขายอาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่ให้กับไต้หวัน พร้อมมีการระบุว่าจะเป็นการช่วยให้ไต้หวันมีศักยภาพในการป้องกันการรุกรานของจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับจีน 

หนึ่งในการแสดงออกของรัฐบาลปักกิ่งคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ต.ค.เมื่อกระทรวงกลาโหมไต้หวัน ซึ่งเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนได้ส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน หรือ ADIZ มากถึง 77 ลำ ในระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 37 ลำในวันที่ 1 ต.ค. และอีก 39 ลำในวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนการรุกล้ำเขต ADIZ ที่สูงที่สุดที่เคยมีการบันทึกและเผยแพร่ต่อสาธารณะนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

โจ ไบเดน สีจิ้นผิง สหรัฐ จีน

ขณะที่บนเวทีทาวน์ฮอลล์ ซึ่งจัดโดย CNN ในวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ไบเดนถูกยิงคำถามถึงสองครั้งว่าสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหรือไม่ หากไต้หวันถูกจีนแผ่นดินใหญ่โจมตี ซึ่งไบเดนกล่าวตอบไปว่า "ใช่ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำเช่นนั้น" 

ส่งผลให้โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาตอบโต้ว่า "สหรัฐฯ ควรที่จะระมัดระวังคำพูดและการกระทำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน และไม่ควรส่งสัญญานผิดๆ ไปยังกองกำลังรักษาดินแดนเพื่ออิสรภาพของไต้หวัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงความมั่นคงและสันติในช่องแคบไต้หวัน"