ไม่พบผลการค้นหา
ในกีฬาที่ผู้เข้าแข่งอายุเกิน 20 ปีถูกมองว่า "แก่เกินไป" เธอจารึกประวัติศาสตร์ด้วยการเข้าแข่งโอลิมปิก 8 ครั้ง ก่อนหยุดเส้นทางนักกีฬาไว้ ณ อายุ 46 ปี

ยิมนาสติกสากลอาจไม่ใช่กีฬาที่คนไทยให้ความสนใจเท่าไหร่ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเพราะไทยไม่มีหวังชิงเหรียญทองและยิมนาสติกก็ไม่ใช่กีฬาที่อยู่ในสปอตไลท์มากเท่าไหร่นัก

แม้จะพูดเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความผู้ชมไม่เคยเห็นการแข่งขันหรือเห็นนักยิมนาสติกผ่านสายตากันมาบ้าง ทว่าหากคุณให้บังเอิญได้ชมการแข่งขันยิมนาสติกในรอบคัดเลือกของโอลิมปิกปีนี้ จะพบว่ามีเรื่องน่าประหลาดใจเกิดขึ้นที่สนามแข่งขันยิมนาสติก ประเภทม้ากระโดด หนึ่งปีให้หลังกำหนดการเดิมที่ล่าช้าออกไปเพราะโรคระบาด


25 ปี ให้หลังจุดสูงสุด ยังคงอยู่บน ‘จุดสูงสุด’ 

ยิมนาสติกถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีระยะเวลา ‘ประกอบอาชีพ’ สั้นมาก หากได้ชมการแข่งขันผ่านตามาบ้าง ผู้ชมก็คงไม่ค้านสภาพความเป็นจริงที่เด่นหลาจากอายุของผู้เข้าแข่งขัน 

นอกจากหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อสายตา วิจัยในปี 2016 ที่สนใจศึกษาช่วงพีคของนักกีฬาโอลิมปิก โดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ยังพบว่า ค่าเฉลี่ยอายุที่นักกีฬาจะมีศักยภาพสูงสุด ราว 72% อยู่ระหว่างวัย 20-30 ปี และแทบ 99% คือนักกีฬาที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตัวเลขข้างต้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยคร่าวๆ ที่รวมทุกประเภทกีฬาและเพศสภาพของผู้เข้าแข่งขัน เมื่อแบ่งลึกลงไปตามเงื่อนไขของแต่ละประเภทกีฬา ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เป็นอีกครั้งที่ผลลัพธ์เชิงคุณภาพจากสะท้อนชัดว่า ‘ยิมนาสติกสากล’ เป็นกีฬาของวัยหนุ่มสาว ด้วยค่าเฉลี่ยช่วงพีคของศักยภาพนักกีฬาอยู่ที่ 23.2-25 ปี สำหรับเพศชาย และลงมาเหลือเพียง 19.4-21 ปี สำหรับเพศหญิง 

ในกีฬาซึ่งผู้แข่งขันที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปถูกมองว่าแก่เกินกว่าจะชนะได้ ‘อ็อคซานา ชูโซวิตินา’ นักกีฬาทีมชาติอุซเบกิสถานกลับยืนหยัดแข่งขัน ชนะ บาดเจ็บ และพ่ายแพ้มาตลอดสามทศวรรษ

นักยิมนาสติก โอลิมปิก
  • อ็อคซานา ชูโซวิตินา ระหว่างแข่งขันยิมนาสติก ประเภทม้ากระโดด ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เธอเลือกบอกลาอาชีพ ‘นักยิมนาสติก’ ด้วยวัย 46 ปี กับการเข้าแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 8 ณ กรุงโตเกียว ซึ่งกลายเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเธอ

แม้ท้ายที่สุดแล้วเธอจะไม่ผ่านเข้าสู้รอบสุดท้ายเพื่อกลับมาทวงตำแหน่งเจ้าของเหรียญทองที่เธอเคยได้ในปี 1992 แต่ทั้งสนามที่ปราศจากผู้ชมกลับเต็มไปด้วยเสียงปรบมือ กู่ร้อง และแสดงความยินดี เมื่อปลายเท้าของนักยิมนาสติกหญิงคนนี้แตะลงสู่พื้นหลังจบการแข่งขัน 

นักยิมนาสติก โอลิมปิก
  • เมื่อการแข่งขันจบลง นักกีฬาในสนามรวมไปจนถึงผู้ฝึกสอนจากทุกประเทศ ล้วนลุกขึ้นปรบมืออย่างกึกก้องให้กับ ‘อ็อคซานา ชูโซวิตินา’

ไม่หยุดเพราะรักใน “ยิมนาสติก” และ “ลูก”

อ็อคซานา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อปี 2020 ขณะฝึกซ้อมเพื่อเข้าแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 8 ของเธอว่า “ฉันรักยิมนาสติกมากจริงๆ และตราบใดที่ฉันยังเล่นได้ ฉันก็ถามตัวเองว่า ทำไมไม่ฝึกซ้อมและแข่งขันขณะที่ยังทำได้ ถ้าฉันเลิกเล่นไปก่อนหน้านี้ ฉันคงเสียดายมากๆ”

อย่างไรก็ดี ความรักที่มีให้กับยิมนาสติกไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่ทำให้เธอต่อสู้กับการรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงกับการแข่งขันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 อ็อคซานา พบว่าลูกชายของเธอป่วยเป็นโรคลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังเยอรมนีเพื่อให้ลูกชายได้รับการรักษา 

ระหว่างนั้นเธอยอมรับข้อเสนอเปลี่ยนมาเป็นตัวแทนนักยิมนาสติกของเยอรมนีเพื่อเข้าแข่งขันและนำเงินรางวัลไปรักษาอาการป่วยของลูกชาย เธอเป็นนักกีฬาให้กับประเทศเยอรมนีระหว่างปี 2006 - 2012 ก่อนกลับมาเป็นตัวแทนอุซเบกิสถานเช่นเดิม 

นักยิมนาสติก โอลิมปิก
  • อ็อคซานา ชูโซวิตินา ระหว่างแข่งขันยิมนาสติก ประเภททีม ในโอลิมปิกเกมส์ 1992 ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน 

ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นอาชีพนักยิมนาสติกนั้น อ็อคซานา ผู้เกิดในปี 1975 เริ่มต้นการเป็นตัวแทนประเทศใต้สังกัดสหภาพโซเวียต ระหว่างปี 1988 - 1992 โดยในปีสุดท้ายใต้สังกัดสหภาพโซเวียตนั้น เป็นปีที่เธอได้เหรียญทองการแข่งขันยิมนาสติกประเภททีม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน 

อ็อคซานา กลับมาขึ้นรับรางวัลจากโอลิมปิกเกมส์อีกครั้งในปี 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กับการแข่งขันยิมนาสติก ประเภทม้ากระโดด โดยเธอได้เหรียญเงินในครั้งนั้น

นักยิมนาสติก โอลิมปิก
  • อ็อคซานา ชูโซวิตินา กับรางวัลเหรียญเงินการแข่งขันยิมนาสติก ประเภทม้ากระโดด ในโอลิมปิกเกมส์ 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน  

ตลอกการแข่งขันระดับนานาชาติ เธอได้ทั้งหมด 9 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน และ 9 เหรีญทองแดง 

อ็อคซานา ปิดท้ายในสัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า เธอต้องการให้โชว์ยิมนาสติก ณ กรุงโตเกียวนั้นสวยงามราวกับเป็นการแสดงในโรงภาพยนตร์เพื่อเป็นการบอกลาอาชีพรักและสื่อสารความสวยงามของกีฬาดังกล่าวให้กับคนทั่วไป