ไม่พบผลการค้นหา
ก้าวไกล ชี้กรณีรัฐจ่อขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรทำ แต่คนที่ทำไม่ควรเป็น ประยุทธ์ ซัดเเรง หวั่นตีเช็คเปล่า ส่งผล GDP ดิ่งเหวในอาเซียน ยกเคสโคกหนองนาโมเดล รากหญ้าไม่ได้ประโยชน์ เอี่ยวนายทุนต่างชาติ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของพรรค ได้ให้ความเห็นต่อกรณี จากข่าวเมื่อวานนี้ (วันที่ 20 ก.ย. 64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยมีมติให้ปรับเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ให้เป็น 70% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว จะเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกู้เงิน นอกเหนือจากแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ได้อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท

วิโรจน์ กล่าวว่า ต่อกรณีนี้ หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 64 ที่สภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดเอาไว้เองต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “ผมไม่โง่กู้ถึง 60% โดยที่มันผิดกฎหมายหรอก” ซึ่งก็ต้องย้ำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าใจว่า พรรคก้าวไกล ไม่เคยทักท้วงการกู้เลย ซึ่งตนเเละพรรคก้าวไกลได้เน้นย้ำมาตลอดว่า ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น

การจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการแพร่ระบาด การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเตรียมการด้านระบบสาธารณสุข การเยียวยาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และการดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการพยุงการจ้างงาน การรักษาระดับการบริโภค และการส่งเสริมลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ภายในประเทศ เป็นเรื่องที่พรรคไม่เคยขัดข้อง และยืนยันว่าการกู้เงินมีความจำเป็นด้วยซ้ำ

“การกู้เงินจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ “การใช้เงินที่กู้มาอย่างไร้ประสิทธิภาพ และขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาล” พอเงินหมด ก็กู้ กู้มา ก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ที่ไม่ควรซื้อก็ซื้อ ที่ควรต้องซื้อก็ล่าช้า พอเงินหมดก็กู้อีก พอครบกำหนดต้องใช้หนี้ ก็ต้องกู้วนมาจ่ายหนี้ ถ้าการใช้เงินของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลยังขาดวิสัยทัศน์ และไร้ประสิทธิภาพแบบนี้ ในที่สุดแล้ว สภาพของประเทศจะไม่ต่างจากคนที่ขาดวินัยทางการเงิน และมีหนี้บัตรเครดิตล้นพ้นตัว”


โคกหนองนาโมเดล

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา และเงินกู้ 5 แสนล้าน ที่ปัจจุบัน (ณ วันที่ 14 ก.ย. 64) ที่ ครม. อนุมัติไปแล้ว 144,166 ล้านบาท โดยกู้เงินไปแล้วถึง 123,809 ล้านบาท โดยเฉพาะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลจำเป็นต้องถอดบทเรียน และแก้ไขไม่ให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก เหตุใดการเบิกจ่ายเงินกู้ในแผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ถึงได้ล่าช้า ทำให้ขาดความพร้อมในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนประชาชนต้องติดเชื้อ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อย่างที่ไม่ควรจะเป็น และการใช้จ่ายเงินกู้ในแผนงานที่ 3 เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นั้นสามารถพยุงการจ้างงานได้จริงหรือไม่ ผลประโยชน์จากใช้จ่ายเงินกู้นั้นตกถึงประชาชน และผู้ประกอบการชาวไทยมากน้อยเพียงไร

“อย่างกรณี โครงการโคกหนองนาโมเดล โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พบปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าในหลายพื้นที่ ผู้รับเหมาจำนวนไม่น้อยร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินค่าขุด หรืออย่างกรณีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ได้ร้องเรียนว่า มีผลประโยชน์จากเงินกู้ก้อนมหาศาล แทนที่จะถูกจัดสรรปันส่วนไปยังผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่พัก ธุรกิจนำเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ขนส่ง ร้านอาหาร ร้านขายของ กลับตกไปอยู่ในมือของ Online Travel Agency ต่างชาติ “วิโรจน์ กล่าว 

วิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP ก็คือ เมื่อการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของ GDP ก็จะอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ โดยปกติแล้วและหากประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ดี วงเงินกู้ ที่มีเพดานหนี้สาธารณะในระดับ 60% ของ GDP ก็จะขยายตัวตาม GDP ที่เติบโตขึ้นอยู่แล้ว

“การขยายระดับเพดานหนี้สาธารณจาก 60% เป็น 70% ของ GDP ส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า มาจากการใช้จ่ายเงินกู้ และงบประมาณที่ไร้สิทธิภาพของรัฐบาล ที่ส่งผลทำให้ GDP ของประเทศ มีอัตราการขยายตัวที่ต่ำ และเป็นไปได้ว่าอาจจะแย่ ในระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน”


หมดความชอบธรรมในการกู้เงิน

วิโรจน์ ได้ย้ำสุดท้ายว่า ตนในฐานคณะทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของพรรคก้าวไกล เข้าใจดีว่า ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การขยายเพดานระดับหนี้สาธารณะ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถกู้เงิน ที่จะเป็นภาระของประชาชนทั้งแผ่นดิน ทั้งคนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และอีกหลายชีวิตที่จะถือกำเนิดขึ้นมาในอนาคต มาใช้จ่ายอย่างไร้สามัญสำนึก และขาดวิสัยทัศน์ ได้อย่างเดิม ไม่เช่นนั้น รัฐบาลถัดไป ก็คงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นกว่านี้อีก เพื่อกู้เงินมาแก้ไขปัญหา ตามล้างตามเช็ดความฟอนเฟะทางเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ก่อเอาไว้

“ที่จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมในการกู้เงินไปแล้วด้วยซ้ำ ช่องว่างที่กู้ได้อีก 1 ล้านล้านบาท จากการขยายเพดานระดับหนี้สาธารณะในครั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ กู้มาถลุงจนเกลี้ยงอีก ก็คงเป็นสิ่งที่ประชาชนทั้งแผ่นดิน ยากที่จะให้อภัย พล.อ.ประยุทธ์ จึงควรสังวรตน และเหลือวงเงินกู้ ให้กับรัฐบาลที่มีสติปัญญา และความสามารถ ได้กู้มาฟื้นฟูประเทศบ้าง “ วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย