ไม่พบผลการค้นหา
โลกจับตาการปรากฏตัวของผู้นำสหรัฐฯ สัปดาห์นี้บนเวทีสหประชาชาติ โอกาสสำคัญของ โจ ไบเดน ในการอธิบายต่อหน้าผู้นำทั้งโลกปมความรุนแรงในอัฟกานิสถานและข้อพิพาทด้านกลาโหมกับประเทศฝรั่งเศส

การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหประชาชาติ หรือ United Nations General Assembly กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าใจกลางนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะเดินทางเข้าร่วมพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยมีภารกิจท้าทายอย่างการเรียกความเชื่อมั่นคืนให้กับสหรัฐฯ หลังมีกรณีข้อพิพาทครั้งใหญ่เกิดขึ้น ทั้งการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ข้อพิพาทด้านกลาโหมกลับประเทศฝรั่งเศส และประเด็นวัดซีน โควิด-19

ท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้นทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ลินดา โธมัส กรีนฟีลด์ ย้ำว่าความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และนานาชาติ แม้จะกำลังประเชิญอุปสรรคอยู่บ้างแต่ยังไม่ได้ทำให้เกิดบาดแผลถาวรจนไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้ “เพื่อนที่ดีย่อมมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเป็นธรรมดา นั่นคือธรรมชาติของมิตรภาพ คุณสามารถมีความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ในขณะที่ยังสามารถเดินหน้าต่อเพื่อที่จะร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ” ลินดากล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนการเริ่มประชุม ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ผู้นำจากนานาชาติต่างร่วมแสดงความยินดีในการเปลี่ยนผ่านอำนาจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จากเดิมที่เคยมีความสับสนวุ่นวายอย่างต่อเนื่องภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลายคนเชื่อว่านี่คือก้าวสำคัญของสหรัฐฯ ในการกลับเข้าสู่ความปกติสุขภายใต้การนำของไบเดน อย่างไรก็ตามหลังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึงสองเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านความสัมพันธ์และความรู้สึกที่นานาชาติมีต่อสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป 


NATO ชัดเจน ไม่เห็นด้วยวิธีถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างฉุกละหุก

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในการถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานอันนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เกิดการเสียชีวิตของผู้คนที่พยายามหนีออกจากประเทศ และความเดือดร้อนของชาวอัฟกันจำนวนมากที่ยังคงติดค้างอยู่ในประเทศเพราะไม่สามารถหนีออกได้ทัน พวกเขากำลังใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวจากการถูกทำร้ายและการจับกุมภายใต้การปกครองประเทศของ 'ตาลีบัน' ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิก NATO ต่างลงความเห็นว่าเป็นการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งทางผู้นำสหรัฐฯ ได้ยืนยันหลายครั้งว่าการตัดสินใจของเขาเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว

สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ออกมายืนยันกับสาธารณะว่าเหตุการณ์โจมตีผู้ก่อการร้ายด้วยโดรนในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นการสังหารผู้ก่อการร้ายเพียงหนึ่งคนตามที่อ้างในตอนแรก แต่เป็นการสังหารประชาชนคนทั่วไปอีก 10 คน โดย 7 คนเป็นเด็ก และหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นผู้ทำงานอาสาให้กับหน่วยงานของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย


ฝรั่งเศสเรียกทูตกลับประเทศ ชี้สหรัฐฯ ‘หักหลัง’

สัปดาห์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ได้จุดประกายความขัดแย้งครั้งสำคัญครั้งใหม่ อย่างการประกาศร่วมมือทางกลาโหมกับออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร หรือ AUKUS โดยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ซึ่งจะส่งผลให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ครั้งแรก อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการไปยกเลิกสัญญาที่เคยมีขึ้นระหว่างออสเตรเลียและฝรั่งเศส โดยออสเตรเลียเคยจะสั่งซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสมูลค่า 66,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมากถึงขั้นที่มีการเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียและกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ กลับประเทศ

เท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสเรียกรัฐบาลของโจ ไบเดนว่าเป็นผู้หักหลัง และมีความเลวร้ายไม่ต่างกับรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยฝรั่งเศสยังมองด้วยว่านี่คือความต้องการของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับสหราชอาณาจักรแผ่ขยายอำนาจในอินโดแปซิฟิกในจังหวะเวลาหลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit อย่างเป็นทางการ

ท่าทีของ โจ ไบเดนยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตา เราต้องรอดูว่าผู้นำสหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรในการแถลงต่อหน้าผู้นำโลกบนเวทีการประชุมสามัญประจำปีของสหประชาชาติในปีนี้ เนื่องจากทั่วโลกกำลังประเชิญกับวิกฤต ควิด-19 ผู้นำหลายประเทศได้รับการฉีดวัคซีนจากผู้ผลิตที่ไม่ได้รับการรับรองในสหรัฐฯ เลยไม่สามารถเข้าร่วมได้ การประชุมจึงจะเป็นแบบไฮบริด คือการเดินทางมาร่วมประชุมที่นครนิวยอร์กด้วยตัวของผู้นำหรือผู้แทนเอง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ หนึ่งในนั้นคือผู้นำของ 'จีน' และ 'รัสเซีย' ที่จะไม่เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง