ไม่พบผลการค้นหา
'หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย' ยังกั๊กโหวต 'ร่าง รธน.' พรรคไหน-อัด 'ประยุทธ์' ไร้คนเชื่อ เพ้อเปิดประเทศ 120 วัน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ปปช.) กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ของหลายๆพรรค ว่า ทุกพรรคที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าการจะทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะต้องคิดถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก 

อย่าคิดถึงประโยชน์ของตนเองและพรรคเป็นหลัก ซึ่งพรรคเสรีรวมไทยมีความคิดว่าประเทศไทยใครจะเป็นอะไรก็ได้ขอให้ได้คนดี ที่มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ใน ตำแหน่งต่างๆ และผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน แต่ถ้าคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 


อัดร่าง พปชร. ใช้ไม่ได้หวังยึดประโยชน์ส่วนรวม

อย่างพรรคพลังประชารัฐยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่เข้าใจว่ายื่นเข้ามาทำไมเพราะ ที่ผ่านมาเคยขัดขวางไม่ยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน แถมยังมีเสียง ส.ว.ช่วยด้วย ซึ่งตอนนี้ควรรอให้มีการพิจารณาพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จก่อน และจึงจะมีการตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่คนคนเดียว

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีแต่ละพรรคการเมืองเสนอญัตติไปแล้วนั้น พรรคเสรีรวมไทยจะขอตัดสินใจให้ความเห็นชอบในวาระหลังการอภิปรายว่าจะสนับสนุนร่างของฝ่ายไหน โดยยืนยันว่าร่างของพรรคพลังประชารัฐยังใช้ไม่ได้ แต่เห็นว่าจะต้องเป็นร่างที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งแต่ละพรรคก็เสนอประเด็นที่แตกต่างกัน อย่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยชาติไทยพัฒนา ก็เสนอบัตรเลือกตั้ง2 ใบ หรือเพื่อไทยและก้าวไกลด้วย

สำหรับระบบเลือกตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยอมรับว่าพรรคเสรีรวมไทยเป็นพรรคเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อสู้ทางการเมือง แต่เชื่อมั่นว่าพรรคจะไม่มีปัญหาแม้ระบบเลือกตั้ง จะเป็นบัตรใบเดียวหรือบัตรสองใบก็ตาม เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าประชาชนรู้จักพรรคเสรีรวมไทยมากขึ้น ซึ่งหากเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวพรรคเสรีรวมไทยก็จะได้ ส.ส. มากขึ้น แต่หากเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. มากขึ้นหรือน้อยลง แต่ชี้ว่าการออกระบบเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ หวังที่จะตัดพรรคเล็กออกจากระบบการเมืองไทย

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วันว่า ไม่มีใครเชื่อมั่นในคำสัญญาดังกล่าว และไม่สนใจการประกาศของนายกรัฐมนตรี แต่หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศไว้ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีในการแสดงความรับผิดชอบว่าจะลาออกหรือไม่