ไม่พบผลการค้นหา
ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ รายงานตัวคดีสาดสี ตร.เมื่อปี 2563 ยืนยันไม่เคยมองเจ้าหน้าที่รัฐเป็นศัตรู แต่เป็นการต่อสู้ด้วยชั้นเชิงงานศิลปะ

“แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ พร้อมทนายความเดินทางมาขึ้นศาลแขวงดุสิต ตามข้อหา “ทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ “ทำให้ปรากฏซึ่งรูปรอยใดๆ บนถนนหรือที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ในคดีสาดสี จากเหตุการณ์หน้าสน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 

ไชยอมร กล่าวว่า เนื่องจากแต่เดิมตนถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาด และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่เกินกว่าเหตุไปมาก ตนมองว่าการแจกจ่ายคดีเป็นจำนวนมากให้แก่แกนนำในการชุมนุมต่างๆ ถือเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐไทยที่จะใช้ก่อกวน แล้วก็สร้างความลำบากให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย


ศิลปะที่มีคุณค่าไม่ใช่การทำร้าย

ไชยอมร ระบุว่า วันนี้โดยหลักจะเป็นการไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีที่ถูกทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งตนมองว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสาดสีใส่เครื่องแบบตำรวจที่ได้ทำไป เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า อยากจะขอนำมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีความกังวลอะไร ขอเพียงให้ออกมาในรูปแบบที่สามารถพูดคุยกันได้ เพราะไม่เคยมองเจ้าหน้าที่รัฐเป็นศัตรู คิดว่าการให้เกียรติกันคือทางออกที่ดีทั้งสำหรับคดีนี้ และสำหรับประเทศด้วย 

หากใครได้เห็นหลักฐานคลิปภาพเหตุการณ์ในวันนั้น ก็จะรับรู้ว่าเป็นการโดนตัว ฉุดยื้อกันตามปกติ เผลอๆอาจเป็นมวลชนดันเข้ามาด้วยซ้ำ ดังนั้น ไชยอมร มองว่าการสัมผัสตัวในลักษณะนี้จึงไม่ควรถูกนำมาใช้ในการกล่าวหาว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย คดีของตนเป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของการบังคับบัญชาแบบบนสู่ล่าง ที่ส่งผลให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องเกิดความลำบากใจในการปฏิบัติหน้าที่

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของไชยอมร จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า วันนี้เป็นการสั่งฟ้องโดยอัยการ ก่อนหน้านี้ทนายความเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากจำเลยพยายามทำการติดต่อเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 10 นายแล้ว โดยจำเลยเองก็มีความพร้อมที่จะชำระค่าเครื่องแบบที่ถูกสาดสี ทว่าผู้เสียหายไม่สามารถรับข้อเสนอของไชยอมรได้ ภายใต้คำกล่าวอ้างที่ว่า “นายสั่งไม่ให้ยอมความ”

ไชยอมร กล่าวว่า ด้วยความที่กลไกลบางอย่างในระบบราชการและระบบยุติธรรมนั้นถูกครอบงำโดยคนบางกลุ่ม ทำให้เงินเยียวยาตรงนี้ไปไม่ถึงผู้เสียหาย และสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาในการดำเนินคดีโดยอำนาจตุลาการ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการปฏิรูปจุดนี้ ซึ่งการต่อสู้ของตนล้วนเป็นไปเพื่อต้องการทำให้สังคมดีขึ้น พร้อมเผยว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวหลังจากนี้แน่นอน เพียงแค่ต้องพิจารณาถึงสถานการณ์โควิดและรูปแบบในการเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง


คุณทำพี่น้องเรา เราก็มีสิทธิ

สำหรับเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ไชยอมร ได้ทำการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งยืนอยู่หลังแผงเหล็กหน้า สน.สำราญราษฎร์ ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และศิลปินแร็ป ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหากรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งไชยอมร กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังการกระทำดังกล่าวว่า 

“สิ่งที่เราทำคือการสร้างสัญลักษณ์ในการทวงความยุติธรรม ทวงถามความชอบธรรม และต้องการสื่อสารให้พวกเขาหยุดคุกคามประชาชนเสียที เพราะต่อไปนี้ไม่ใช่คุณแล้วที่จะคุกคามเราอย่างเดียว ถ้าคุณทำพี่น้องเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำคุณเหมือนกันด้วยชั้นเชิงทางศิลปะ”

ทั้งนี้ โดยภายหลังอัยการยื่นฟ้องเเล้วศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยใช้วิธีสาบานตน เเละนัดพร้อมสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ต.ค.64 เวลา 09:00 น.