ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจานุุเบกษาเผยแพร่ประกาศขยายเวลาบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 13 ถึงสิ้นเดือน ก.ย.จำเป็นต้องคงมาตรการเข้มหลังสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก พร้อมให้บรรดาคำสั่ง ประกาศที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลบังคับใช้

วันที่ 23 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 ซึ่งระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พ.ศ.2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 12 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564 นั้น 

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งการค้นหาและการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การเร่งเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม การจัดระบบการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่แยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชน การเร่งจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วย เร่งรัดจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้จำนวนมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้และกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้กว้างขวางมากที่สุดเพื่อป้องกันโรคและลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต รวมถึงเร่งรัดผลิตยารักษาโรคขึ้นภายในประเทศ และจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล เพื่อสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้

อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ กรณีจึงจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชน และสาธารณสุขของประเทศ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปควบคู่กัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. พ.ศ.2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. พ.ศ.2564

ให้ประกาศ-คำสั่งนายกฯตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลบังคับใช้

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงนามในประกาศเรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประะกาศ เรื่องการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) ลงวันที่ 22 ก.ค. 2564 นั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2564เป็นต้นไป

ให้ประกาศที่ ครม.ออกตามประกาศฉุกเฉินยังบังคับใช้

พล.อ.ประยุทธ์ยังลงนามเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 ประกาศเรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 13) ลงวันที่ 22 ก.ค. พ.ศ.2564นั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้บรรดาประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2563 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

ตั้งอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็น กก.เฉพาะกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงนามเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 ในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 11/2564 เรื่อง เพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลงวันที่ 5 พ.ค. พ.ศ. 2564 นั้นเพื่อให้การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงมีคำสั่งให้เพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยให้มีอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง