ไม่พบผลการค้นหา
#รับทุกร่างคือทางออก คือหนึ่งในแฮชแท็กสำคัญเพื่อรณรงค์ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ทุกร่าง เปิดทางให้มีการแก้ไข รธน. อันเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของ “ม็อบปลดแอก”

ทว่าถึงที่สุดแล้ว ร่างแก้ไข รธน. ฉบับของไอลอว์ที่มีประชาชนร่วมลงรายชื่อหนุนกว่า 100,732 รายชื่อ ก็มีอันตกไป เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก บรรดา ส.ส. ซีกรัฐบาล และ ส.ว.​ที่มาจากการแต่งตั้ง 

เพจของไอลอว์ เขียนคำบรรยายไว้จับใจว่า “แม้ร่างจะไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่เจตจำนงของประชาชนกว่าแสนคนยังคงอยู่” 

เหตุสำคัญที่ผู้มีอำนาจปฏิเสธร่างของไอลอว์ ก็เพราะร่างของไอลอว์ มีเพดานที่สูงเกินไป เกินกว่าชนชั้นนำจะรับไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงปลิวพัดรุนแรงเกินทัดทาน

เหมือนที่หนึ่งใน ส.ว. จากการแต่งตั้ง “พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช” ลุกตั้งคำถามต่อร่าง รธน. ฉบับไอลอว์ในประเด็นที่ไม่มีข้อกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นั้นมีเจตนาอะไร ?​....เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันมีการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแต่ละวัน โดยที่พระมหากษัติรย์ ทรงเป็นที่เคารพรัก และเทิดทูนของคนไทยทั้งประเทศ จึงควรมีข้อกำหนดเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ไว้

เพจไอลอว์ ตอบคำถามนี้ชัด ๆ ว่า "เหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่มีข้อกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่จะที่ยอมรับของทุกฝ่าย ต้องไม่จำกัดความฝันของประชาชน เราเชื่อว่าการพูดคุยกันได้ในทุกเรื่องจะทำให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจแม้เห็นไม่เหมือนกัน

ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่การพูดคุยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนนมีมากยิ่งขึ้น เรายิ่งจำเป็นอย่างที่จะต้องนำข้อเสนอนี้เขามาถกเถียงกันในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ และหาทางออกร่วมกัน นอกจากนี้ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยเราต้องการให้อำนาจกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

สตช. สาดสี

ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อรัฐสภาปาหี่ สะท้อนผ่านการชุมนุมในวันที่ 17 พย. ก็ดี 18 พย. ก็ดี สะท้อนผ่านการสาดสี และเขียนข้อความทั่วราชประสงค์ก็ดี 

เป็นการส่งสารย้ำถึงความฝันที่ถูกรัฐสภา โดยเฉพาะจากเสียงโหวตของ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.จากการแต่งตั้ง ปัดตก ซ้ำยังสำทับด้วยการติติง ด่าทอ ประกาศจะเดินหน้าปิดกั้นความฝันของม็อบปลดแอกไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้น

ความฝันที่บางคนใฝ่ฝัน จึงเป็นได้เพียงความฝันที่จำต้องระแวดระวังจากคนอีกฟากฝั่งหนึ่ง

ความเป็นไปในรัฐสภา สัมพันธ์กับความเป็นไปนอกสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ “ราษฎร” ไม่สามารถฝากความหวังกับบรรดาผู้แทน และรัฐสภาปาหี่ได้ กราฟฟิตี้การเมืองจึงปรากฏ การสาดสีจึงปรากฏ ข้อความที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นในชั่วชีวิตนี้จึงปรากฏ

เมื่อความชอบธรรมและความเชื่อมั่นกับการเมืองในระบบถูกลดทอน การต่อต้านนอกสภาจึงถูกยกระดับตามไปด้วย 

เดิมทีประเมินกันว่า รัฐสภา จะช่วยเปิดกาน้ำที่เดือดดาลให้มีที่ระบาย แต่อาการปาหี่ตลอดสองวัน ชัดแล้วว่า พวกเขาไม่เพียงปิดทางออกของประเทศ ปิดความฝันของม็อบ 

แต่รัฐสภาปาหี่ยังเป็น “ปัจจัย” ให้สถานการณ์คุกรุ่นไปข้างหน้า 

จะทำอย่างไรได้ เมื่อสภาไม่เป็นความหวังของประชาชนอีกต่อไป!!

รัฐธรรมนูญ ประชุมรัฐสภา​_201118.jpg

ให้หลังการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักแต่งเพลงชื่อดัง ถึงกับประกาศให้ใช้ ม. 112 กับม็อบ การชนกันของสองฝั่งนับแต่นี้จะคุกรุ่นไปข้างหน้า 

แต่การต่อสู้ในวันนี้ มาไกลขนาดที่กฎหมายใดก็รั้งไว้ไม่อยู่ แกนนำคนแล้วคนเล่า พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขา “ไม่กลัว ไม่เชื่อเหมือนเดิมแล้ว”

“แถลงการณ์สุมไฟ-ใบอนุญาตกดปราบ” 

นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เป็นการเร่งด่วนว่า “รัฐบาลและทุกฝ่ายกําลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย...สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง”

“ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นําไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดําเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทําความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดําเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล” 

คำสำคัญมีสองคำ “สถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง” และ “บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่” 

คำถามเพียงข้อเดียวต่อแถลงการณ์ฉบับนี้ : ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องใดของม็อบปลดแอกบ้างแล้วหรือไม่ ? 

หรือนอกจากไม่ตอบสนองแล้ว ก็ยังกดปราบทุกข้อเรียกร้อง เดินหน้าสุมไฟให้ประเทศ ด้วยรัฐสภาปาหี่ และแถลงการณ์ข่มขู่ประชาชน เฉพาะกรณีหลัง ยังเป็นเสมือน ‘ใบอนุญาตกดปราบ’ ให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับดำเนินการต่อต้านกลับโดยใช้ทุกเครื่องมือ-ทุกกลไกที่มีในมือ  

“ทางออกโดยสงบและสันติ” ที่รัฐบาลพยายามนำเสนอนั้น จำเป็นต้องความมี “ความยุติธรรม” ดำรงอยู่ด้วย และจำเป็นต้องมีที่ยืนของ “ความฝัน” ของพี่น้องประชาชนดำรงอยู่ด้วย ทางออกจึงปรากฏ 

แต่เมื่อทั้ง ความยุติธรรมและความฝัน ไม่ถูกยกมาคุย ก็จะเหมือนที่ “เยาวชนปลดแอก” ให้ความเห็นหลังแถลงการณ์ของนายกฯ​ ออกเผยแพร่ว่า 

[นี่คือการประกาศสงครามกับประชาชนเต็มรูปแบบใช่หรือไม่? รัฐบาลของประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ โดยจะใช้นิติสงครามเต็มรูปแบบ ทุกมาตราที่มีอยู่ในมือ นั่นอาจรวมถึง 112 หรือกฎหมายเอาผิดผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ด้วย

ประยุทธ์ -48E6-A621-E5FB153CDD84.jpeg

ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลงแล้ว อนาคตของประเทศ ขึ้นอยู่กับข้าราษฎรทุกหมู่เหล่า พนักงานออฟฟิศ ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา และราษฎรทุกคน

สันติวิธีนั้นมีหลายรูปแบบ การสาดสี และพ่นสียังจัดอยู่ในสันติวิธี แต่บนรัฐที่ล้มเหลวเช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ การพยายามบิดเบือน และสร้างความชอบธรรมให้รัฐเกิดขึ้นอยู่เสมอดังเช่นในอดีต แต่ผองราษฎรจงอย่ายอมจำนน ถ้าไม่ลุกขึ้นสู้ ก็ต้องอยู่อย่างทาสไปอีกหลายทศวรรษ

โปรดเตรียมพร้อมรับมือกับความเหลวแหลกของรัฐ

ถึงนาทีนี้ ผู้มีอำนาจอย่าลืมฟังคำเตือนของ “จีรนุช เปรมชัยพร” ตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวปิดท้าย ในระหว่างการนำเสนอถึงความต้องการและความจำเป็นที่รัฐสภาควรจะลงมติเห็นชอบรับหลักการวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไว้อย่างจับใจ

“สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโบกอยู่ในเวลานี้ ไม่มีอำนาจใดที่จะหยุดยั้ง หากท่านใดคิดว่าจะตัดต้นลมด้วยการปิดโอกาส ปิดเสียงประชาชน ดิฉันเกรงว่าการกระทำดังกล่าวกำลังแปรเปลี่ยนให้สายลมแห่งความหวังดีกลายเป็นพายุใหญ่ในอนาคต”


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :


วยาส
24Article
0Video
63Blog