ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นสวัสดิการ เยอรมนีเตรียมออกข้อบังคับให้เอกชนออกค่าใช้จ่าย หรือจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แก่พนักงานในองค์กร อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ด้านภาคเอกชนค้าน ชี้ไม่จำเป็น เพราะหลายบริษัทตรวจอยู่แล้ว

รัฐบาลเบอร์ลินกำลังอยู่ระหว่างร่างแก้ไขกฎระเบียบด้านสุขภาพและความปลอดภัยแรงงาน โดยมีแผนที่จะออกข้อกำหนดให้บริษัทเอกชนในประเทศต้องจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด หรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ แก่พนักงานทุกคนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งสำหรับพนักงานที่มีประวัติความเสี่ยงสูง อาทิ พนักงานร้านค้าปลีกที่ต้องติดต่อกับลูกค้าหลายรายภายในห้องทำงานแบบปิด โดยนายจ้างหรือผู้ประกอบการนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 

ร่างแก้ไขดังกล่าวซึ่งถูกเสนอเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 เม.ย. โดยคาดว่ารัฐบาลของนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล จะลงมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ในประเทศ

โอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาคลัง เผยกับสื่อท้องถิ่นว่า ข้อบังคับนี้ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ทุกบริษัทต้องเข้าร่วม ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ มาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงกำหนดให้นายจ้างต้องเสนอทางเลือกแก่พนักงานในการทำงานจากบ้านด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นบางภูมิภาคของประเทศอย่าง กรุงเบอร์ลินได้ออกมาตรการข้อบังคับแก่นายจ้างในลักษณะเดียวกันนี้แล้ว

โชลซ์ เผยอีกว่า รัฐบาลเบอร์ลินตั้งเป้าให้มีการตรวจเชื้อแก่พนักงานทั้งที่ทำงานภายในสำนักงาน และที่ทำงานในภาคโรงงานอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังมีคนงานน้อยกว่า 90% ที่ได้รับการตรวจเชื้ออย่างต่อเนื่องตามแผน รัฐบาลจึงจำเป็นช่วยเหลือประชาชนด้วยการออกกฎระเบียบดังกล่าว ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการ ทั้งรัฐบาลเตรียมวางแผนขยายมาตรการควบคุมโรคแบบอื่นๆ ไปจนถึง 30 มิ.ย. เพื่อสกัดการระบาด 

ขณะที่ ฮูเบอร์ตุส เฮล รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของเยอรมนี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงกล่าวว่า แผนการออกมาตรการบังคับนายจ้างรับผิดชอบการทดสอบเชื้อแก่พนักงานนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในขณะนี้ ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กลับมาสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยปัจจุบันมีพนักงานภาคเอกชนราว 60% ที่ได้รับการตรวจฟรีจากนายจ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่เป็นการตรวจแบบต่อเนื่อง และเขาหวังว่าทุกคน (นายจ้าง) จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในตอนนี้ ซึ่งการตรวจเชื้อดังกล่าวยังรวมถึงการตรวจแบบเร็วในหลากหลายรูปแบบด้วย ไม่ได้จำกัดว่าต้องตรวจเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง


ภาคธุรกิจค้าน ชี้ 'ไม่จำเป็น'

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลเผยแผนดังกล่าว สมาคมธุรกิจหลายแห่งของประเทศมีท่าทีต่อต้านมาตรการนี้ โดยกล่าวว่า บริษัทต่างๆ ไดให้ความช่วยเหลือพนักงานในหลายรูปแบบอยู่แล้ว รวมถึงการเข้าถึงการตรวจคัดกรองเชื้อ ทั้งโจมตีว่า "เป็นอีกครั้งที่บรรดานักการเมืองโยนภาระหน้าที่ของตนเอง ให้กับนายจ้างโดยไม่เคยพูดถึงเรื่องภาระค่าใช้จ่าย" 

แอนทอน โบลเนอร์ ประธานสหพันธ์การค้าส่งการค้าและบริการต่างประเทศของเยอรมัน (BGA) เผยว่า จากข้อมูล ขณะนี้บริษัทต่างๆ ของเยอรมนีได้จัดการตรวจสอบเชื้อแก่พนักงานอยู่แล้ว "บริษัทถึง 9 ใน 10 แห่ง จัดบริการตรวจคัดกรองเชื้อแก่พนักงานของตนอยู่แล้ว ทั้งจะมีเอกชนอีกหลายแห่งที่เตรียมดำเนินการแบบเดียวกันในเร็วๆนี้ ... เราเชื่อว่าข้อผูกพันตามกฎหมายที่บังคับเอกชนให้ตรวจสอบเชื้อในแรงงานนั้น ไม่จำเป็นและไร้ประโยชน์" 

สอดคล้องกับประธานสมาพันธ์การค้าภาคแรงงานมีทักษะ (ZDH) วิจารณ์รัฐบาลแมร์เคิลที่เตรียมออกมาตรการดังกล่าวว่า "รัฐต้องการผลักความรับผิดชอบในต่อสู้กับโรคระบาดเข้ามาสู่ภาคเอกชนซึ่งกำลังแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดไม่ต่างกัน .. บริษัทส่วนใหญ่ดำเนินการตรวจเชื้อแก่พนักงานอยู่แล้วทั้งโดยสมัครใจและภาคบังคับ ทั้งมีอีกหลายองค์กรที่เตรียมดำเนินการในแบบเดียวกัน ดังนั้น การออกข้อบังคับทางกฎหมายแรงงานจึงไม่มีความจำเป็น"

สำหรับเยอรมนี มียอดติดเชื้อสะสมกว่า 3 ล้านราย รักษาหายแล้ว 2.73 ล้านคน เสียชีวิตสะสม 79,137 ราย

ที่มา: The Local.de , Reuters