ในช่วง BIZ NEWS 22-24 ตุลาคมนี้ นำเสนอรายงานพิเศษ ดิจิตอลอีโคโนมี (Digital Economy) โดยตอนแรก จะนำเสนอว่า ดิจิตอลอีโคโนมี ซึ่งเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน มีความหมายอย่างไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจใดบ้าง แท้ที่จริงเป็นของใหม่ หรือ ของเก่า
นโยบายเศรษฐกิจหนึ่งที่ถูกพูดถึงในรัฐบาลยุค คสช.ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ คำว่า ดิจิตอลอิโคโนมี หรือ Digital Economy ซึ่งหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นผู้ผลักดัน หลายคนอาจสงสัยว่า ดิจิตอลอีโคโนมีคืออะไร มันแตกต่างจาก เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่เคยมีการผลักดันก่อนหน้านี้ หรือไม่
ความจริงแล้ว ดิจิตอลอีโคโนมี ไม่ใช่ของใหม่ เพราะเป็นคำศํพท์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1995 ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดย Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือ "The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence" โดยชี้ให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ต จะเปลี่ยนวิถีของการค้าขายอย่างชนิดที่ โลกไม่เคยเห็นมาก่อนโดยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎกติกาและกฎหมาย การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับตัวและปรับทัศนคติของประชาชน
หากมองในมุมของภาคเอกชน คาดว่า มี 6 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอีโคโนมี ซึ่งส่วนใหญ่คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทั้งด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ คอนเทนต์ รวมทั้งการซื้อขายออนไลน์ หรือ E-Commerce และ การทำ Digital Marketing ซึ่งหากประเมินมูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 10 ของจีดีพีประเทศ
หากมองในภาคเอกชนแล้ว ถือว่ามีความพร้อมสำหรับดิจิตอลอีโคโนมี เพราะมีธุรกิจด้านนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งการลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT และการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ที่ลดเวลาการเดินทาง ลดการใช้เอกสาร ประหยัดเวลาและต้นทุนต่างๆ แต่ภาครัฐแม้จะมีการจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มาตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการ เมื่อปีพุทธศักราช 2545 รวมทั้งเป้าหมายทางด้าน ICT ของไทยที่ผ่านมา
เช่น การกำหนดให้ประชาชนเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคม และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ร้อยละ 80-95 ภายในปี 2563 ซึ่งถูกกำหนดในโครงการดิจิตอล อีโคโนมี 2554 - 2563 หรือ ICT 2020 การมีแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที มาสเตอร์แพลน ฉบับที่ 3 ตั้งแต่ปี 2557-2561 โครงการ SAMART THAILAND รวมทั้งการติดอันดับศักยภาพด้านไอซีที 1 ใน 50 ของโลก ซึ่งที่ผ่านมา ไทยอยู่ในอันดับที่ 77 และ 74 ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากดูในปัจจุบัน เป้าหมายและโครงการต่างๆด้าน ICT ที่ตั้งไว้ยังห่างไกลจากปัจจุบันมาก
ดังนั้น หากจะพูดว่า ดิจิตอลอีโคโนมี ก็คือปัดฝุ่นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการ เคยมีการวางแนวทางและเป้าหมาย คงไม่ผิดนัก แต่แนวทางของดิจิตอลอีโคโนมี ของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล และรัฐบาลยุคคสช. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และมีความคืบหน้าอย่างไร ติดตามได้จากรายงาน Digital Economy ตอนที่ 2