ปัญหาผู้อพยพกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกจากผู้อพยพชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามกลางเมืองออกนอกประเทศแล้ว ปัจจุบัน ทั่วโลกยังมีผู้อพยพอีกจำนวนมากที่ใช้เส้นทางต่างๆ หลีกหนีความโหดร้ายในประเทศไปยังต่างประเทศเช่นเดียวกัน ทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ตลอดจนภูมิภาคอาเซียนของเราเอง
สถานการณ์ผู้ลี้ภัย ที่อพยพหนีภัยสงคราม ความอดอยาก และการสู้รบในประเทศของตน เพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เริ่มเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นถึงหลายเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวซีเรีย ซึ่งถือเป็นผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ ที่ไม่สามารถทนอยู่ในบ้านเกิดของตนได้อีกต่อไป
ซึ่งนอกเหลือจากซีเรียแล้ว เอริเทรีย ประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก ก็กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มีตัวเลขของผู้ลี้ภัย เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า จำนวนชาวเอริเทรีย ที่พยายามเดินทางออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในทวีปยุโรปมีมากถึงเกือบ 37,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนเกือบ 13,000 คนในปีก่อน
จากข้อมูลของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า ขณะนี้มีผู้อพยพชาวเอริเทรียมากกว่า 216,000 คน ที่ยังคงตกค้างอยู่ในเอธิโอเปียและซูดาน โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ดีมากนัก โดยพวกเขาหนีภัยการสู้รบ ระหว่างเอริเทรียและเอธิโอเปีย ที่ยืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่ที่เอริเทรีย แยกตัวเป็นเอกราชจากเอธิโอเปีย
โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ นิยมใช้เส้นทางผ่านทะเลเมดิเตอเรเนียน เพื่อเข้าไปยังยุโรป โดยมีจุดหมายปลายทางสำคัญ คือประเทศสวีเดน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งก่อนที่จะถึงทะเลเมดิเตอเรียนนั้น พวกเขาต้องเดินเท้าผ่านเอธิโอเปียและซูดานก่อน จึงเป็นเหตุให้ชาวเอริเทรียตกค้างในทั้งสองประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
แต่นอกเหนือจากเส้นทางดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีรายงานผู้ลี้ภัย ที่เดินทางออกจากเอธิโอเปียและโซมาเลีย โดยใช้เส้นทางอ่าวเอเดน ก่อนมุ่งหน้าไปยังทะเลแดง เพื่อล่องเรือเข้าไปยังซาอุดีอาระเบีย และเยเมนต่อไป โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยที่ใช้ช่องทางนี้กว่า 80,000 คน
ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีรายงานการอพยพของผู้ลี้ภัยกว่า 54,000 คน ส่วนใหญ่เดินทางมาจากบังกลาเทศ ผ่านเมียนมาร์ โดยมีจุดปลายทางคือประเทศไทย และมาเลเซีย
โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้ลี้ภัยเสียชีวิตจากการล่องเรือ รวมถึงการเสียชีวิตเพราะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์มากถึง 4,272 ราย ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ลี้ภัยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ถึงแม้ว่าจะรอดชีวิต แต่ต้องเผชิญกับสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น เนื่องจากพวกเขาต้องอาศัยในค่ายผู้อพยพ ที่มีทั้งการข่มขืน ทรมานร่างกาย และถูกใช้แรงงานโดยไม่เต็มใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ ที่ทุกประเทศต้องเร่งมือแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น