อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วิเคราะห์ว่า มวลชนเสื้อแดงยังขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ขบวนการเสื้อเหลืองเริ่มเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่พรรคการเมืองใหม่
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2548-2553 ผ่านความเคลื่อนไหวของ 3 กลุ่มหลัก
1. กลุ่มอนุรักษ์นิยม ระบบราชการ กลุ่มทุนเก่า นักการเมืองบางส่วน กลับเข้ามามีบทบาทหลังรัฐประหาร 2549 ขณะนี้กลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ใช้กลไก “องค์กรอิสระ” เป็นเครื่องมือหลักในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง
2. กลุ่มนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง ช่วงปี 2540- 2549 เป็นช่วงนักการเมืองในระบบเลือกตั้งเข้มแข็ง ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดการปะทะกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นยุคที่นักเลือกตั้งมีอำนาจเหนือระบบราชการจนเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางสังคม
3 . กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวของคนกลุ่มนี้ พวกเขามีสิทธิมีเสียงทางการเมืองมากขึ้นผ่านการเมืองระบบเลือกตั้ง กลุ่มชนชั้นกลางใหม่บางส่วน คือ กลุ่มคนเสื้อแดง การช่วงชิงมวลชนกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้ นโยบายประชาวิวัฒน์เพื่อสร้างความนิยม จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในมิติเดียว แต่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ต้องการด้วย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วิเคราะห์ว่า การต่อสู้ระหว่างเสื้อเหลือง กับเสื้อแดง ในปี 2554 จะแตกต่างจากระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่มวลชนเสื้อแดงยังขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ แต่ขบวนการเสื้อเหลืองเริ่มเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่พรรคการเมืองใหม่ มวลชนเสื้อเหลืองจะค่อย ๆลดลง เสื้อเหลืองในฐานะทัพหน้าของกลุ่มอนุรักษ์นิยม จะหมดความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ เพราะกลุ่มอนุรักษ์รุกเข้ายึดกุมอำนาจผ่านกลไกขององค์กรอิสระได้แล้ว
Produced by VoiceTV