รายการ Intelligence ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2555
หลังจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือ นาซ่า ตัดสินใจถอนโครงการขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐาน เพื่อศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทย ที่มีการหยิบยกปัญหาเรื่องความมั่นคง และผลประโยชน์ทับซ้อนมาโจมตีกัน ขณะที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโดยหลักการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ จัดทำโครงการเพื่อศึกษาสภาพภูมิอากาศของไทยโดยใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ในการพยากรณ์ให้เกิดความแม่นยำ โดยมอบหมายให้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นผู้ประสานกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ
ดร.อานนท์ ระบุว่า การศึกษาการก่อตัวของเมฆ และผลกระทบจากอนุภาคแขวนลอยในอากาศ เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมานานแล้ว โดยนาซ่า ประสานผ่านมายังกระทรวงการต่างประเทศเมื่อต้นปี 2553 สาเหตุที่เลือกประเทศไทยเพราะสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จะศึกษาได้ทั้งช่วงมรสุม และช่วงฤดูแล้ง เมื่อนาซ่าถอนตัวออกไป ไทยเตรียมสำรวจการก่อตัวของเมฆ และอนุภาคแขวนลอยในอากาศ ช่วงแรกเดือนกันยายน ถึงตุลาคม เป็นช่วงมรสุมในพื้นที่ภาคใต้ และช่วงที่สองเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงเดือนมีนาคม พื้นที่ภาคเหนือมีหมอกลงจัด การสำรวจใช้อุปกรณ์บอลลูนดาวเทียม และเครื่องบินของสำนักทำฝนหลวง ที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Super King Air
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า กรณีของนาซ่า จำเป็นต้องถอดบทเรียน และถือเป็นบทเรียนราคาแพงของสังคมไทย สังคมที่วิทยาศาสตร์อ่อนแออย่างมาก จนทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ในมุมมองของ ดร.เจษฎา วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานก็สามารถอธิบายทั้งกรณี จีที 200 และ กรณีนาซ่าได้แล้ว หากมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ ตรงไปตรงมา แม้จุฬาฯ จะเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "นาซามาทำอะไรที่อู่ตะเภา" แต่ก็สายเกินไป
ดร.เจษฎามองว่า การตัดสินใจของประเทศไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ แต่ใช้ความเชื่อ ความศรัทธา หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่กระบวนการวิทยาศาสตร์ วงการวิทยาศาสตร์ไทยจึงอ่อนแอ และไม่มีองค์กรใดมารองรับเมื่อเกิดกรณีปัญหาขึ้น