Whats App แอพพลิเคชันยอดนิยม ไม่ใช่แค่ช่องทางแชทแบบส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็นสื่อใหญ่ที่ได้รับความนิยมและความเชื่อถือเป็นอันดับต้นๆของโลก สะท้อนรสนิยมและพฤติกรรมการรับสื่อที่เปลี่ยนไปในโลกยุคดิจิทัล
สถาบันวิจัยเพื่อการสื่อสารมวลชนของรอยเตอร์ส ออกแบบสำรวจพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนจาก 34 ประเทศในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น โดยถามประชาชนถึงกว่า 70,000 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าจากกราฟนี้ จะเห็นว่าสื่อออนไลน์ที่ยังได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ Facebook ตามด้วย Youtube และ Whats App และ Twitter ทั้งผู้ที่ใช้เป็นการทั่วไป และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ Facebook ยังครองแชมป์โซเชียลมีเดียที่คนใช้ติดตามข่าวสารมากที่สุดในโลก มีคนถึงร้อยละ 47 ที่ติดตามข่าวใน Facebook อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่หากเทียบกันปีต่อปี กลับพบว่าคนที่ดูข่าวผ่าน Facebook ลดลงในหลายประเทศ
ในทางตรงกันข้าม อัตราการใช้งานแอพพลิเคชันประเภทกล่องข้อความส่วนบุคคลในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อย่าง Facebook Messenger และ Whats App ในฐานะช่องทางติดตามข่าวสารกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีประชากรร้อยละ 15 ที่ระบุว่าติดตามข่าวผ่าน Whats App อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
อีกข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ Whats App ได้รับความนิยมต่างกันมากในแต่ละประเทศ เช่นมาเลเซีย มีอัตราผู้รับข่าวสารผ่านทางแอพพลิเคชันนี้กว่าร้อยละ 51 ตามด้วยบราซิล ชิลี และสิงคโปร์ ที่มีอัตราผู้ใช้ Whats App ติดตามข่าว ร้อยละ 38 ตุรกี ก็มีอัตราการใช้ Whats App ติดตามข่าวสูง อยู่ที่ร้อยละ 25 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ มีผู้ติดตามข่าวผ่านทาง Whats App เพียงร้อยละ 3-7 เท่านั้น
ปัจจัยที่ทำให้ Whats App เฟื่องฟู โดยเฉพาะในลาตินอเมริกา เป็นเพราะในประเทศเหล่านี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน้ตมักให้บริการแบบอันลิมิทแก่ผู้ใช้ ในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่าง Whats App ทำให้ความนิยมในตัวแอพเหล่านี้พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้สื่อในภูมิภาคยังปรับตัวโดยการมีปุ่มสำหรับให้ผู้อ่านกดแชร์ไปยัง Whats App ได้โดยอัตโนมัติ
สิ่งที่น่าสังเกตจากข้อมูลนี้อีกประการก็คือ ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสูง หรือรัฐบาลจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น มีแนวโน้มที่จะติดตามข่าวสารผ่านทางช่องทางส่วนตัวที่ยากต่อการตรวจสอบอย่าง Whats App มากกว่าโซเชียลมีเดียที่มีความเป็นสาธารณะอย่าง Twitter และ Facebook เนื่องจากช่องทางส่วนตัวถูกมองว่าปลอดภัยจากการสอดส่องสอดแนมของเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้ ผลสำรวจของรอยเตอร์สยังพบว่าการเมืองที่แหลมคมและมีการโจมตี ปล่อยข่าวลวงใส่กันตลอดเวลา ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในข่าวสารข้อมูลต่างๆน้อยลงอย่างมาก โดยประเทศที่มีความเชื่อถือในข่าวน้อย เป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเช่นเกาหลีใต้ ที่คนเพียงร้อยละ 20 เชื่อถือข่าว หรือสหรัฐฯ ที่คนร้อยละ 38 เชื่อในข่าวที่ถูกเสนอโดยสื่อ และคนอังกฤษเพียงร้อยละ 43 ที่เชื่อข่าวจากสื่อกระแสหลัก