ไม่พบผลการค้นหา
ยุทธการล้อมกระเป๋าเงินเกาหลีเหนือในอาเซียน
Jul 19, 2017 12:40

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯส่งนักการทูตผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือเดินสายประเทศในอาเซียน ขณะที่ในไทยเอง ทูตกลิน ที เดวีส์ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ ตอกย้ำนโยบายใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ ตัดเส้นทางการเงินเกาหลีเหนือในอาเซียน เพื่อยุติความทะเยอทะยานของโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

นับจากการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม สหรัฐฯก็เดินหน้ากดดันเกาหลีเหนือหนักข้อขึ้น ทั้งผ่านสหประชาชาติ และโดยการกดดันจีนให้ไปกดดันเกาหลีเหนืออีกต่อ เพื่อให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ลงมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเข้มข้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่เป็นผล และในระหว่างนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น นั่นก็คือการส่งผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือมาเยือนประเทศอาเซียน


ตั้งแต่วันที่ 11-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯส่งผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ เอกอัครราชทูตโจเซฟ ยุน ไปเยือนสิงคโปร์และเมียนมา จุดหมายปลายทางแรกอย่างสิงคโปร์เป็นการเดินทางไปร่วมประชุมว่าด้วยความมั่นคงของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การที่นายยุนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ ที่ถูกส่งไปยังประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการซื้ออาวุธและช่วยทำธุรกรรมการเงินหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของนานาชาติมาตลอดอย่างสิงคโปร์ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯพุ่งสูงสุดในรอบหลายปี การไปเยือนสิงคโปร์ของนายยุนถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่รัฐบาลทรัมป์กำลังดำเนินการอย่างเงียบๆ นั่นก็คือการตัดเส้นทางการเงินของเกาหลีเหนือทุกทางเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเวลาหลายปีที่เกาหลีเหนืออยู่ใต้การคว่ำบาตรจากนานาชาติ พิสูจน์แล้วว่าไม่สะเทือนความมั่นคงของรัฐบาลคิมจองอึน เพราะมีหลายประเทศ หลายช่องทางที่เกาหลีเหนือสามารถหาเงินได้อย่างลับๆ
จุดหมายที่สองของนายยุนคือเมียนมา ชัดเจนเช่นเดียวกันว่าเป็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะล็อบบี้ลูกค้ารายใหญ่ของเกาหลีเหนือ เพราะแม้เมียนมาจะเป็นประเทศยากจน แต่งบประมาณส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในมือของทหาร การใช้เงินมหาศาลซื้ออาวุธเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกปี และในยุคที่เมียนมาเองก็ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ เกาหลีเหนือผู้ถูกคว่ำบาตรเหมือนกัน คือคู่ค้ารายใหญ่ที่ยอมขายอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากให้แก่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า แต่เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้เปลี่ยนไป ก็ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯจะเข้าไป "ขันน็อต" ยุติความสัมพันธ์สีเทานี้ และก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่สหรัฐฯจะล็อบบี้รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เพราะไม่ต้องเป็นซูจีก็รู้ได้ว่าเมียนมาควรเลือกรักษาพันธไมตรีและค้าขายกับใคร ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ

นายยุนไม่ได้เดินทางเยือนไทยและมาเลเซีย อีก 2 ประเทศพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือในอาเซียน แต่อย่าลืมว่านายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนืออยู่แล้ว ก่อนเข้ารับตำแหน่งในประเทศไทย ท่านทูตเดวีส์เคยทำงานเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยนโยบายเกาหลีเหนือ มีหน้าที่ประสานงานการเจรจา 6 ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯและชาติมหาอำนาจอื่นๆกับสองเกาหลี เพื่อคลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงดูแลนโยบายทุกด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ ความมั่นคง ไปจนถึงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่สหรัฐฯมีต่อเกาหลีเหนือ
การที่สหรัฐฯส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือมาประจำในไทยตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการโยกย้าย แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลจากนายบารัก โอบามา มาเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีแนวนโยบายต่างประเทศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ก็สะท้อนได้ว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับการติดตามความเคลื่อนไหวและความร่วมมือระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือไม่น้อย

ยุทธการกดดันเกาหลีเหนือโดยบีบวงล้อมประเทศที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนสินค้าของเกาหลีเหนือ มุ่งเน้นไปที่ฟันเฟืองหลักในการหาเงินเข้าประเทศ "Room 39" หรือหน่วย 39 หน่วยลับที่ทำหน้าที่หาเงินด้วยวิธีการสีเทาหรือสีดำ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาอาวุธ รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์ ซึ่งมีราคามหาศาล
หน่วย 39 ดูแลกิจการทั้งหมดที่ทำเงินให้เกาหลีเหนือ ตั้งแต่โรงแรม 5 ดาว ห้างสรรพสินค้าสุดหรูที่เต็มไปด้วยของแบรนด์เนมในเปียงยาง สกีรีสอร์ท และร้านอาหารของเกาหลีเหนือในต่างแดน ไปจนถึงการค้ายาเสพติด พิมพ์แบงก์ 100 ดอลลาร์ปลอม ผลิตสินค้าแบรนด์เนมปลอม และกาสิโนในมาเก๊า ร้านอาหารเกาหลีเหนือกลางกรุงเทพฯที่คนไทยจำนวนหนึ่งเคยไปรับประทาน ก็เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจการในการควบคุมของหน่วย 39 เช่นกัน โดยในแต่ละปี ประเมินกันว่าหน่วย 39 นำรายได้เข้าประเทศถึงปีละเหยียบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ไม่นับการค้าขายระหว่างประเทศแบบถูกกฎหมายที่มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ ตามด้วยอินเดีย รัสเซีย และไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 4 รองจากมหาอำนาจ 3 ประเทศ โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเกาหลีเหนือคือน้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ ข้าว ด้าย ส่วนสินค้านำเข้าก็เช่นน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และกระดาษ
รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะตัดเส้นทางการเงินของเกาหลีเหนือไปจนกว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะ "ปรับปรุงพฤติกรรม" และประเทศที่จะถูกกดดันไม่ใช่แค่เกาหลีเหนือ แต่รวมถึงหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าใหญ่อย่างสิงคโปร์ ฐานตั้งบริษัทบังหน้าของเกาหลีเหนืออย่างมาเลเซีย หรือคู่ค้าสำคัญอย่างไทยและเมียนมา
ยุทธการเจาะถุงเงินเกาหลีเหนือจึงต้องถูกจับตามอง ไม่ใช่แค่ในฐานะนโยบายคลี่คลายวิกฤตการณ์นิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลี แต่ในฐานะนโยบายที่จะกำหนดบทบาทและอิทธิพลของสหรัฐฯในอาเซียนยุคทรัมป์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog