รายการ Intelligence ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2555
รายการ Intelligence ช่วงแรก พูดคุยกับ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ดร.ดาโต๊ะ คุณวุฒิ มงคประจักษ์ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดยะลา และ คุณกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ร่วมกันสะท้อนสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา และอำเภอเบตง สำหรับอำเภอเบตง แทบจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเลย ทั้งยังมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมาก ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เข้ามาประมาณร้อยละ 60 โดยยังสามารถพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ได้อีก ผู้ประกอบการจึงเรียกร้องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมต่อไปยังปีนัง การขยายเที่ยวบินที่สนามบินบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส และการส่งเสริมอาหารฮาลาล
ช่วงที่สองพูดคุยกับ คุณสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี และคุณกู้เกียรติ บูรพาพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ภาพรวมของเศรษฐกิจทั้ง 2 จังหวัดต้องพิจารณาจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ระบุว่า ปัตตานีไม่มีชายแดนติดกับมาเลเซีย จึงไม่มีการค้าชายแดนเหมือนกับยะลา นราธิวาส แต่ปัตตานีมีชายทะเล อาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้จังหวัดปัตตานี คือ การประมงในต่างประเทศ และยางพารา ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตขึ้นมาก เป็นเพราะถูกจำกัดศักยภาพอยู่ 4-5 ปี โครงการใหญ่ที่ถูกจับตามอง คือ โครงการปัตตานีจายา ที่ได้ทุน เริ่มต้นจากกษัตริย์กาตาร์ จะเป็นชุมนุมมุสลิมขนาดใหญ่ มี โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล มัสยิด บ้านจัดสรร ในพื้นที่ 1300 ไร่
ส่วนประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ชี้แจงว่า รายได้หลักของนราธิวาส มาจาก ภาคการเกษตร ภาคการประมง และสินค้าส่งออก บริเวณชายแดน ที่ด่านตากใบ สุไหงโกลก และแว้ง แม้จะเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงถี่ แต่การค้าชายแดนก็ต้องปรับสภาพไปตามเหตุการณ์ เพราะสินค้าอุปโภค บริโภค ยังจำเป็นต้องส่งออกจากทั้ง 3 ด่านนี้ไปยังมาเลเซีย ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนราธิวาส ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจในจังหวัดที่เกิดความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เรียกร้องให้รัฐบาลขยาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่อเนื่องอีก 2 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็ต้องการ ลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับปี 2557 ต้องจับตา ปัตตานีฮาลาลซิตี้ ที่จะดำเนินการเสร็จ