รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2556
ในนวนิยาย เรื่อง สี่แผ่นดิน (Four Reigns) ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย มีเนื้อหาการต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงปี 2475 เป็นการสร้างวรรณกรรมเพื่อล้างสมองประชาชนว่ายังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นทำให้สังคมเลวร้ายลงเป็นอันมาก มีการเน้นความจงรักภักดี เชิดชูสถาบัน และสร้างกลุ่มที่เกลียดชังนักการเมือง หลงรักความดี
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2528 ว่า " แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น"
และตอนหนึ่งยังบอกว่า " ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นระดับแม่พลอย โง่ฉิบหายเลย..จะบอกให้..สี่แผ่นดินถึงได้ดัง"
จากบทความของ ชญานิน เตียงพิทยากร ที่ตีพิมพ์ใน Siam Intelligence บอกว่า "พลอย" ถูกยกให้เป็นอุดมคติในฐานะราษฎรไทยผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงการเป็นแม่ที่ดี เป็นผู้หญิงที่ดี แต่พลอยในอวตารร่างใหม่ สินจัย เปล่งพานิช ใน"สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล" ยังจะใช่พลอยผู้อยู่ในหน้ากระดาษของคึกฤทธิ์หรือไม่ เพราะเธอคนนี้กลับมีจุดยืนที่แข็งขันแน่วแน่ ไม่ว่าเรื่องสังคมการเมืองหรือชีวิตคู่ เช่นในฉากที่คุณเปรมแนะนำ "คุณอ้น" แสดงความไม่พอใจที่คุณเปรมมีลูกติด เธอกลายเป็นผู้เก่ง แกร่ง และบทละครของถกลเกียรติ ได้ให้บทการศรัทธาประชาธิปไตยและคณะราษฎรของอั้น (ลูกชายคนแรกของพลอย) ถูกนำเสนอให้เป็นสิ่งผิด จนถึงกับมีเพลงที่เขาต้องร้องต่อหน้าแม่เพื่อแสดงอาการ "สำนึกบาป" ความสามัคคีปรองดองใน ''สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล'' ฤาจะเป็นความปรองดองจอมปลอมที่บีบบังคับให้ความแตกต่างไม่มีที่ยืน เป็นความสมานฉันท์ที่เรียกร้องให้คนอื่นปรับเข้าหาตนเอง
ในบริบทของสายชล สัตยานุรักษ์ สี่แผ่นดินให้ภาพสมัย ร.6 ว่ามีการกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ ซึ่งขัดแย้งความจริงทางประวัติศาสตร์ ในพระราชนิพนธ์ "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ที่แสดงถึงความแตกร้าวอย่างมากภายในชนชั้นเจ้ามาตั้งแต่สมัย ร.5 และเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 7 ระบุว่าราชสำนักรัชกาลที่ 6 เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง อย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น ถูกล้อเลียน ติเตียน จนนำไปสู่เหตุการณ์ รศ.130