เสียงจากชาวจังหวัดอุบลราชธานี สอดคล้องกับงานวิจัยของนักวิชาการในพื้นที่ ได้ลบล้างคำกล่าวหาที่ว่า คนอีสานซื้อได้ ให้เป็นเพียงวาทกรรมที่ล้าหลังและหลงยุค
คนที่นี่ถูกลดทอนคุณค่าทางการเมืองจากชนชั้นกลางไทยบางส่วน ด้วยวาทกรรมซื้อเสียง ผลักพวกเขาให้เป็นผู้ล้าหลังการพัฒนา และประชาธิปไตย ขณะที่เสียงคนในพื้นที่ต่างปฏิเสธ และยืนยันศักดิ์ศรีของตน ท่ามกลางการใช้วาทกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแข็งแกร่งมาหลายทศวรรษ เพื่อพิสูจน์ความจริง เราเดินทางมาพูดคุยกับนักวิชาการในพื้นที่ ซึ่งก็เห็นว่า หมดยุคแล้วที่จะใช้วาทกรรมนี้ในภาคอีสานและการซื้อเสียงก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกแต่อย่างใด
สอดคล้องกับงานวิจัยทางวิชาการ ที่พบว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งยอมรับเงิน และเลือกผู้สมัครรายเดียวกันนั้นมีเพียงร้อยละ4.59 ส่วนผู้ที่รับเงินแต่ไม่เลือกมีถึงร้อยละ 46.79 และผู้ใช้สิทธิเลือกที่พรรคการเมืองหรือนโยบายมากกว่าตัวบุคคล และหัวหน้าพรรค งานวิจัยยังสรุปว่าการให้เงินปัจจุบันไม่ใช่การซื้อขายเสียงอีกต่อไป
นักวิชาการในพื้นที่ เห็นว่า ควรนำความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้มาตีแผ่เพื่อเปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองให้เข้าใจข้อเท็จจริงมากขึ้น ทั้งสองอาสาพาเรารำลึกสถานที่จัดกิจกรรมจุดเทียนที่พวกเขาบอกว่า เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างสันติ และเป็นการพิสูจน์ว่าคนอีสานกระตือรือร้นทางการเมือง ไม่ได้สนใจ หรือรอคอยเงิน ดังที่ถูกกล่าวหา
วงพูดคุยเครือข่ายชุมชนเช่นเดียวกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่ เห็นว่า การซื้อเสียงหมดความหมายไปแล้ว /ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมแค่การเลือกตั้ง แต่ยังร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในท้องถิ่นอีกด้วย
ล่าสุดหากพิจารณาจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา ภาคอีสานมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดถึงร้อยละ 55.31 และสามารถจัดเลือกตั้งได้สำเร็จ แม้สิ่งนี้ไม่อาจการันตีการปลอดการซื้อสิทธิขายเสียงได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่า พวกเขายังเชื่อในสิทธิทางการเมืองของตนเองผ่านระบบการเลือกตั้ง
แววตาคนอุบลฯภาพการรอคอยการอุปถัมภ์ และรู้ไม่เท่าทันนักการเมืองของชาวอีสาน จึงเป็นเพียงวาทกรรม และมายาคติ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และลดทอนความเท่าเทียมกันของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้นักวิชาการเห็นว่า เป็นม่านบังตาที่ทำให้เราไม่เห็นเจตจำนง หรือความปรารถนาที่แท้จริงของชาวชนบท