นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กโดยระบุว่า นโยบายด้านภาษีของพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงไว้ ไม่ได้หมายถึงการลดภาษีเป็นตัวเงินตรงๆ แต่หมายถึงการทบทวนโครงสร้างภาษี เพราะว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงอยู่ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีอัตราจัดเก็บห่างกันพอสมควร คือ 35 % กับ 25% จึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในรายละเอียดร่วมกัน
ขอย้ำว่า การปรับโครงสร้างภาษี จะได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน และโดยส่วนตัวก็ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ อัตราที่ห่างกันระหว่างภาษีบุคคลธรรมดา กับนิติบุคคล ควรลดลง แต่การดำเนินการทั้งหมดทั้งมวล จะอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการบริหารการเงินการคลังอย่างมีวินัย และเน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนครับ
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กถึงเรื่อง 'ลดภาระภาษีคนชั้นกลาง' ว่า ผมดีใจที่คุณอุตตมได้สั่งทบทวนข้อเสนอเรื่องการลดภาษีตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ข้อเสนอเดิมของพลังประชารัฐคือการหัก 10% จากทุกอัตรา คือหากใครเคยจ่าย 30% ก็จะเหลือ 20% หรือใครเคยจ่าย 10% ก็จะได้ลดเหลือ 0%
หากดำเนินการตามนี้รายได้รัฐจะลดลง 180,000 ล้านบาทต่อปี และฐานภาษี (จำนวนผู้เสียภาษี) จะลดลงจาก 4 ล้านคนเหลือประมาณเพียง 1 ล้านคน คือหายไป 3 ล้านคน ซึ่งที่จำนวนผู้เสียภาษีจะลดลงมากเป็นเพราะผู้เสียภาษีส่วนใหญ่เดิมเสียอยู่ในอัตราไม่เกิน 10% ซึ่งจะกลายเป็น 0% ตามข้อเสนอเดิมของพลังประชารัฐเอง
อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถลดภาระภาษีให้ชนชั้นกลางได้อยู่ครับ ข้อเสนอของประชาธิปัตย์คือ การลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล 20% จากอัตราเดิมให้ทุกคน - เว้นแต่ผู้มีรายได้เกินปีละ 5 ล้านบาทซึ่งยังจะจ่ายเท่าเดิม ยกตัวอย่างใครเสียอัตราเดิม 20% ก็จะปรับลดลงเหลือ 16% หรือ 10% ก็จะเหลือ 8% เป็นต้น
ด้วยวิธีนี้ผู้เสียภาษี (เกือบ) ทุกคนยกเว้น 30,000 คนที่รวยที่สุดจะได้ประโยชน์ และรายได้ของรัฐจะลดลงน้อยกว่าข้อเสนอเดิมของประชารัฐ แต่ก็ยังจะลดลงประมาณ 60,000 ล้านบาท จำนวนผู้เสียภาษีในระบบคงอยู่เท่าเดิม แต่จะมีภาระภาษีน้อยลง 20%