ไม่พบผลการค้นหา
Wake Up News - 'วิโรจน์' ลาออกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 'ภูมิธรรม' วางมือเลขาฯ - Short Clip
Wake Up News - แค่ข่าวลือ ส.ส. เพื่อไทยกินข้าวแกนนำ พปชร. - Short Clip
Wake Up News - 'เพื่อไทย' กับความเป็นได้ในการตั้งรัฐบาล - Short Clip
Wake Up News - อนาคตฝ่าย ปชต. ไปทางไหน? - Short Clip
Wake Up News - จะอ้างเจ๊หน่อยทำพรรคแตกก็ได้ แต่สุดท้ายได้ ส.ส.เพิ่ม - Short Clip
Wake Up News - 'จาตุรนต์' มา ทษช. เพื่อทำภารกิจเลี่ยงเกมเลือกตั้ง - Short Clip
Wake Up News - ศิโรตม์เผยพรรคประชาธิปไตยโชว์พลังเขย่าการเมืองประเทศถึงทหารการเมือง - Short Clip
Wake Up News - รวมขั้วการเมือง หนีไม่พ้นวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง - Short Clip
Wake Up News - ทิศทางการเมืองสหรัฐฯ ทิศทางการเมืองโลก - Short Clip
เปิดตัวเต็งผู้ว่าแบงก์ชาติ
Wake Up News - 'สุดารัตน์ – ชัชชาติ' นำทีมเพื่อไทยหาเสียงเชียงใหม่​ - Short Clip
Wake Up News - 'ภูมิธรรม' ไม่หวั่นอนาคต(ใหม่) ขอปัจจุบันปลดล็อคก่อน - Short Clip
Wake Up News - ผีทักษิณ หลอกหลอนใคร...? - Short Clip
Wake Up News - สสส. ส่งเสริมให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ - Short Clip
Wake Up Thailand Special : วิกฤตประชาธิปไตยไทย
Wake Up News - อนาคตเพื่อไทย ไม่มีตระกูล 'ชินวัตร' ?
Wake Up News - 'วิษณุ' เตือน พรรคใดครอบงำพรรคอื่นผิดกม. - Short Clip
Wake Up Thailand - ทางเดียวหลีกเลี่ยงนองเลือด 'ชนชั้นนำ'ต้องปรับตัว - Short Clip
Wake Up News - 12 ล้านคนไม่รู้สูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ - Short Clip
Wake Up News - เพื่อไทยหารือ สูตรเกลี่ย ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเล็ก - Short Clip
Wake Up News - 'ภูมิธรรม' ตอบ 'นิธิ' เพื่อไทยยืนหยัดประชาธิปไตย - Short Clip
Apr 20, 2018 05:12

จม.จากใจ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ส่งถึง 'พรรคเพื่อไทย' ปลดแอกจาก 'ทักษิณ ชินวัตร' ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย 'ภูมิธรรม เวชยชัย' ตอบยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เขียน จดหมายเปิดผนึกถึง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง จากกรณีที่ ศ.ดร.นิธิ ได้เขียน บทความเผยแพร่สู่สาธารณะเรื่อง 'จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย' โดยนายภูมิธรรม ได้เขียน จดหมายจากใจ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึง 'อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์' และประชาชน มีรายละเอียดดังนี้

ผมได้อ่านจดหมายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างตั้งใจ ด้วยความตระหนักรู้ถึงความปรารถนาดีของอาจารย์ ซึ่งถือเป็นกัลยาณมิตรต่อพรรคเพื่อไทย ขอขอบคุณอย่างยิ่งต่อทุกความเห็น และจะนำไปขบคิดต่ออย่างจริงจัง

ผมมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่น้อยไปกว่าพรรคใด การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการยังคงเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของพรรคเราไม่เปลี่ยนแปลง 

ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยผ่านการร่วมชะตากรรมกับพี่น้องประชาชนที่รักเรา เชื่อมั่นและโอบอุ้มปกป้องเรามาโดยตลอด เราสำนึกและตระหนักดีว่าเราเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขา และขอให้มั่นใจได้ว่าเราจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและละทิ้งภารกิจที่พี่น้องประชาชนมอบหมายให้ได้

แม้นอาจมีบางท่านมองว่า ระหว่างหนทางนั้น พรรคเพื่อไทยอาจยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้ตามต้องการ และไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้ทั้งหมด แต่ผมยังยืนยันว่า ภายใต้อุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ นั้น พรรคยังคงยึดมั่นในประชาชนและหลักประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลง และจะไม่ยอมรับการเมืองที่เป็นการตกลงกันเพื่อประโยชน์ร่วมของชนชั้นนำโดยละเลยหรือไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับอย่างยุติธรรม 

การต่อสู้เพื่อคัดค้านอำนาจและกลไกการรัฐประหารที่เกิดขึ้นของพรรคเพื่อไทยนั้นที่ผ่านมามีหลากหลายรูปแบบ หากแต่ตั้งอยู่บนความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงและไม่ก่อให้เกิดเหยื่อทางการเมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นั่นมิได้หมายความว่าเรายอมรับ นิ่งเฉย หรือคุ้นชินกับระบบเผด็จการที่คุกคามประชาชนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนหลงลืมไปว่าเจตนารมณ์ของพรรคที่เรายึดมั่นกันมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนนั้น คือ การเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมที่ทุกคน ทุกฝ่าย ต่างก็ยอมรับและเคารพในสิทธิที่แต่ละคนพึงมี หรือพึงเลือกเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองได้ ดังนั้น ภารกิจของพรรคต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ จึงยิ่งมีความสำคัญในฐานะของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยอีกครั้ง ในขณะที่พรรคกำลังจะลงสนามแข่งขันในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่พิกลพิการและเต็มไปด้วยกลไกสุดพิสดารนั้น

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิว่าพรรคการเมืองที่วางตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีความจำเป็นต้องยึดมั่นในยุทธศาสตร์การร่วมมือกันเพื่อสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง การร่วมมือกันของประชาชนและผู้รักประชาธิปไตย การประสานทุกกลุ่มพลังเข้าเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ร่วมกัน จึงเป็นภารกิจที่จำเป็นยิ่งในการหลุดพ้นจากระบบเผด็จการและสถาปนาความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงถือเป็น “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ที่ไม่ใช่การต่อสู้แข่งขันกันเองของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่หมายถึงการร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่พรรคการเมืองต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และระดมสรรพกำลังทางยุทธศาสตร์ให้เข้ามามีบทบาทร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศและโครงสร้างการบริหารและกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มบทบาทและสัดส่วนของฟากฝ่ายประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศในหลากหลายมิติ ซึ่งถือเป็นหัวใจของนโยบายที่พรรคยึดถือมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยการดำเนินการภายใต้พรรคไทยรักไทย

สุดท้าย ผมต้องขอขอบคุณต่อประเด็นคำถามและข้อสังเกตของท่านที่ให้พรรคเราได้มีโอกาสทบทวนความคิดและตรวจสอบตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้ง


ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า หากพรรคได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เด็ดขาด พรรคจะมุ่งมั่นสร้างนโยบาย มาตรการ กลไก และกระบวนการแก้ไขปัญหาในสังคมตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนมอบให้ และขอยืนยันจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน คือ การแก้ไขทบทวนกติกาและกฎหมายต่างๆ ที่มีลักษณะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดหลักนิติธรรม และขัดหลักความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากผลไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พรรคก็จะยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และพร้อมทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด

จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย

ในฐานะผู้เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย และอาจจะลงคะแนนให้อีก จึงขอกราบเรียนความต่อไปนี้แก่พรรค พรรคคิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่?

หากพรรคคิดว่านี่คือบทบาทสำคัญที่สุดของพรรคในตอนนี้ ขอให้เข้าใจด้วยว่า เป้าหมายทางการเมืองในช่วงนี้ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ลิดรอนอำนาจของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ จะชนะเลือกตั้งไปทำไม การต่อสู้ของพรรคไม่อาจจำกัดอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้งได้อีกต่อไป

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร อาจมี ส.ส.ของพรรคจำนวนไม่ถึงนิ้วของมือเดียวที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการรัฐประหารอย่างกล้าหาญ แต่พรรคไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากหาทางประนีประนอมด้วยการเชื่อฟังคำสั่งของคณะรัฐประหารอย่างเซื่องๆ นายทุนพรรคอาจเลือกนโยบายประนีประนอมเพื่อเป้าหมายส่วนตัวของเขา แต่พรรคไม่ได้มีหรือไม่ควรมีเป้าหมายเดียวกับนายทุน ภารกิจของพรรคที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างท่วมท้นเช่นนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากพันธะที่มีต่อประชาชนจำนวนมหึมาที่สนับสนุนพรรค และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ลองคิดดูเถิดว่า ในวันที่ 22 พ.ค.ของสี่ปีที่แล้ว หาก ส.ส.ของพรรคทุกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญตัวไปเก็บไว้ในค่ายทหาร ออกมาชูสามนิ้วร่วมกับมวลชนทั่วประเทศ เราจะต้องทนอยู่กับอำนาจดิบของคณะทหารมาถึงสี่ปีเช่นวันนี้หรือ ส.ส.จำนวนมากอาจต้องลงเอยด้วยการติดคุกรัฐประหาร 


แต่การเป็นนักการเมืองในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคง นั่นไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองหรอกหรือ แน่นอนว่า การประนีประนอมมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ในการเมืองของทุกสังคม แต่ในบางกรณี การประนีประนอมกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และหาทางออกได้ยากขึ้น ในกรณีเช่นนี้ การประนีประนอมจะทำให้เกิดผลเสียสองอย่าง

ประการแรก การประนีประนอมทำให้ต้องสูญเสียบางส่วนของเป้าหมาย โดยมากส่วนที่ต้องเสียไปคือส่วนที่มีความสำคัญต่อประชาชน เช่น จะใช้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐเสียก่อน เพราะผู้กำหนดว่าจะต้องเอาอะไรไปแลกกับอะไรไม่ใช่ประชาชน แต่เป็น “ผู้ใหญ่” ของพรรคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ยิ่งการเจรจาเพื่อประนีประนอมทำกันอย่างไม่เปิดเผยมากเท่าไร ประชาชนก็ต้องเป็นฝ่ายสูญเสียมากเท่านั้น

ประการที่สอง ด้วยเหตุดังนั้น การประนีประนอมจึงตอบสนองแก่ความประสงค์ของบุคคลที่แคบมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของความชั่วร้ายได้ง่าย ลองคิดดูเถิดว่า หากคุณทักษิณ ชินวัตร หรือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นของ คสช. (ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้) ใครจะได้อะไร นอกจากคนในตระกูลชินวัตรเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยจึงควรประกาศอย่างชัดเจนหนักแน่นตั้งแต่ตอนนี้ว่า พรรคพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าทั้งหมด นับตั้งแต่พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรคเกรียน, ฯลฯ ส่วนจะเป็นพันธมิตรในระดับใดและอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาร่วมกัน แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า การเป็นพันธมิตรทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อทำให้โครงการเปลี่ยนประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย มีพลังที่จะทำได้อย่างเป็นผลมากที่สุด ทั้งในฐานะที่ได้จัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล


ภารกิจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรของพรรคก็คือ ทำให้มาตรการทุกอย่างทั้งการบริหารและกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างประเทศตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร ไม่มีผลลงทั้งหมด ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับอยู่เวลานี้ลงโดยเร็ว นำเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้พร้อมบทเฉพาะกาล ที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่


สี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าครั้งใดว่า กลไกของรัฐไทยนั้นล้าหลังมาก รัฐไทยจึงไม่มีความสามารถจะนำชาติบ้านเมืองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้เพียงลำพัง 

ด้วยเหตุดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรจะต้องผลักดัน “กติกา” ใหม่ ที่สังคมสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกับรัฐได้เต็มที่ ในฐานะผู้นำรัฐด้วย ไม่ใช่ผู้เสริมพลังของรัฐเท่านั้น สังคมต้องรับภาระการนำแทนรัฐล้าหลัง และการนำนี้ไม่ควรจำกัดอยู่แต่ในมือของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น แต่สังคมโดยรวมต้องเข้ามามีบทบาทโดยตรงด้วย เช่น สัดส่วนของกรรมการสภาพัฒน์ต้องประกอบด้วยบุคคลนอกภาครัฐด้วย (เพียงแต่ต้องคิดให้ดีว่า ทำอย่างไรจึงอาจเลือกตัวแทนของสังคมได้กว้างกว่านายทุนและนักวิชาการ ทั้งยังต้องคิดถึงการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายให้มากกว่าบุคคลที่เป็นกรรมการ)

สองเรื่องหลักที่ต้องลงทุนทำอย่างเต็มที่ (ไม่แต่เพียงเงินงบประมาณอย่างเดียว ควรนึกถึง “ทุน” ในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก) คือการศึกษา, สาธารณสุข, และการกระจายอำนาจการปกครอง ไม่แต่เพียงรื้อฟื้นการเลือกตั้ง อปท.ทุกระดับกลับคืนมา แต่ต้องทำให้ อปท.แต่ละระดับมีอำนาจบริหารในมือของตนเองที่อิสระ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลของประชาชนในพื้นที่ (ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทย) อปท.ต้องเข้ามารับผิดชอบด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาในท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่อีกมาก


ความคิดเรื่องกระจายอำนาจด้วยการตั้งองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นองค์กรอิสระจากรัฐ (เช่น สสส.) ไม่ใช่การกระจายอำนาจจริง เป็นแต่เพียงการถ่ายโอนอำนาจรัฐให้ไปอยู่ในมือของกลุ่มคนที่อ้างความเป็น “มืออาชีพ” ขึ้นมาเสวยผลประโยชน์เท่านั้น

ต้องชัดเจนมาแต่ต้นว่า เป้าหมายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เพื่อกระจายความคิดในการเปลี่ยนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากอำนาจรัฐประหารโดยเร็ว และจะเปิดพื้นที่ให้สังคมเข้ามานำความเปลี่ยนแปลง แทนข้าราชการที่ยังคงล้าหลังเหมือนเดิมตลอดมา พรรคต้องกล้าชี้ให้ประชาชนเห็นความบกพร่องของตัวรัฐธรรมนูญและระบบการเมือง, เศรษฐกิจ, ฯลฯ ที่คณะรัฐประหารได้จัดวางไว้

อย่ากลัวว่าพรรคจะถูกสั่งปิดหรือล้มเลิกไป สถานการณ์ในปัจจุบันกับ 2549 แตกต่างกันมาก และถึงถูกสั่งปิด นักการเมืองของพรรคก็ยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ในฐานะบุคคลธรรมดา (ความเป็นนักการเมืองไม่ได้อยู่ที่การรับรองของ กกต. แต่อยู่ที่ทรรศนะของประชาชน) พรรคเองก็ยังอาจดำรงอยู่ได้ในฐานะองค์กรทางการเมือง ที่ไม่ลงไปแข่งขันทางการเมืองในระบบ


ประการสุดท้ายที่มีความสำคัญเหมือนกันก็คือ การเป็นผู้สมัครของพรรคที่เสนอทางเลือกอย่างชัดเจนดังกล่าวข้างต้น หากจะได้รับเลือกในเขตของท่าน ก็จะได้รับเลือก หากจะไม่ได้รับเลือกก็จะไม่ได้รับเลือก ไม่ว่าจะมีนายทุนพรรคเป็นใคร ไม่มีครั้งไหนที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถปลดแอกจากตระกูลชินวัตรได้ง่ายเหมือนครั้งนี้ พรรคไม่อาจชูใครในตระกูลชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้ว อีกทั้งงบหาเสียงก็มีความสำคัญน้อยลง เพราะมันชัด อย่างไม่เคยชัดเท่าการเลือกตั้งครั้งไหนเลยว่า จะเลือกใครไปทำไม

การเลือกตั้งครั้งนี้คือการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ หากพรรคเพื่อไทยยังพยายามรักษาความจืดของพรรคไว้เพื่อหวังจะได้เกี้ยเซี้ย นอกจากพรรคจะไม่มีโอกาสเกี้ยเซี้ยแล้ว ประชาชนก็จะเริ่มตื่นรู้ว่า ไม่อาจใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเขาได้

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์นั้นมีจริง แต่ไม่ใช่เพียงเพราะชื่อเพื่อไทยก็จะเป็นข้อได้เปรียบโดยอัตโนมัติ ประชาชนจำนวนมากรู้ว่า ความสะใจที่ได้จากการเอาชนะคณะรัฐประหารนั้น ไม่เพียงพอจะช่วยประเทศไทยให้หลุดจากหลุมดำที่ทหารบางกลุ่ม, นายทุนบางกลุ่ม, เนติบริกร และนักวิชาการบางกลุ่มได้เฝ้าเพียรขุดฝังบ้านเมืองให้มืดมิดตลอดไปได้



Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog