'ปิยบุตร แสงกนกกุล' อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักนิติศาสตร์หนุ่มจาก 'คณะนิติราษฎร์' เปิดใจในรายการ Wake Up News ต้องการเสนอทางเลือกใหม่ พาประเทศออกจากวิกฤติความขัดแย้งและฟื้นศรัทธาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องทิ้งความเป็นนักวิชาการสู่สนามเลือกตั้ง พร้อมแบกรับความเสี่ยงการถูกคุกคามจากการเมืองแบบเก่า
'ปิยบุตร' เผยถึงแนวคิดการทิ้งความเป็นนักวิชาการสู่สนามเลือกตั้งแบบเป็นทางการว่า ''ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบเผด็จการทหาร แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าจะออกจากเผด็จการทหารแล้วจะไปไหนต่อ เลยต้องยอมทนในสถานการณ์เช่นนี้ต่อไป จึงพยายามเสนอทางเลือกใหม่ ถ้าหากกลับไปเลือกตั้งแล้วจะต้องเจอพรรคการเมืองในรูปแบบใหม่ ที่ตั้งใจเข้าไปทำการเมืองแบบใหม่ ทำให้คนอยากจะกลับไปเลือกตั้ง ซึ่งนี่คือความคิดเบื้องต้น
'ปิยบุตร' ระบุในช่วง 12 และ 13 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับการชุมนุมที่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวิกฤติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาล แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยู่ร่วมในวิกฤติตรงนั้นและนับวันคนกลุ่มนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อง และหากวิกฤติทางการเมืองอันยาวนานนี้ยิ่งทอดเวลายาวออกไปช่องว่างก็จะเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคนกลุ่มนี้หลายคนไม่เคยเลือกตั้ง
'ผมอยากให้คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ และต้องยุติทศวรรษที่สูญหาย โดยทศวรรษถัดไปคือทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต อนาคตที่เราฝันเห็นว่าอยากให้ประเทศเป็นอย่างไร'
'ปิยบุตร' ย้ำ เข้าสู่สนามเลือกตั้งเพื่อยืนยันว่าในช่วงเวลานี้มันยังมีความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น แม้จะยอมรับว่ามีคนบางส่วนอาจจะชอบระบบเผด็จการทหาร แต่เชื่อว่า เจนเนอเรชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปและคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้น ไม่น่าจะมีใครนิยมชมชอบระบอบเผด็จการทหาร
'เราจะทำอย่างไรให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย สามารถออกแบบรัฐสภา ออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่สร้างความสมดุลให้อำนาจได้ เราพยายามออกแบบให้ผู้คนออกมาเชื่อว่า ประชาธิปไตยยังไปต่อได้ สิ่งที่เรากำลังพยายามจะทำคือ อย่าเสื่อมศรัทธาประชาธิปไตย การกลับมาของประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบ 12-13 ปีที่ผ่านมา'
ทั้งนี้ 'ปิยบุตร' ย้ำ พร้อมยอมรับความเสี่ยงจากการตัดสินใจเล่นการเมืองในครั้งนี้ แม้จะชอบอาชีพการเป็นนักวิชาการมาตั้งแต่เด็ก เพราะอาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่มีเสรีในการแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่
แต่ความนักวิชาการก็มีแง่มุมที่หลากหลาย บางคนชอบวิจัยค้นคว้า บางคนอาจจะคิดผูกมัดตัวเองไปกับประเด็นที่ทำและออกไปเคลื่อนไหว ซึ่งในประเทศตะวันตกมีนักวิชาการลักษณะนี้จำนวนมาก
'ในระยะหลังผมเป็นแบบที่สอง เพราะผมคิดว่าหลายเรื่องสังคมไทยต้องการพูดเรื่อง ความรู้และปัญญามากขึ้น แต่การนำเสนอในฐานะนักวิชาการมันได้แค่ระดับหนึ่ง ถ้าคนที่มีอำนาจในการปฏิบัติไม่ได้นำไปใช้ก็เป็นเพียงข้อเสนอที่ถูกทิ้งไว้ แต่ถ้าลงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เช่นที่การคิดการสร้างพรรคแบบใหม่ข้อเสนอในฐานะการเมืองจะมีคนรับรู้มากขึ้น' ปิยบุตรกล่าว
'ปิยบุตร' ระบุว่า ไม่ได้ทำการเมืองเพื่อจุดประกายความคิดเท่านั้น แต่ลงสนามเลือกตั้งจริง แม้จะมีเพื่อนในคณะนิติราษฎร์เตือน แต่การตัดสินใจเป็นการตัดสินใจของตัวเองไม่เกี่ยวกับนิติราษฎร์ ส่วนนักวิชาการท่านอื่นๆ ยังอยากทำงานทางวิชาการก็เป็นสิทธิของการตัดสินใจของแต่ละคน
โดย 'ปิยบุตร' เผยว่ามีความเข้าใจผิดว่า 'ผมเป็นตัวแทนนิติราษฎร์' ซึ่งไม่ใช่เลย 'ผมตัดสินใจคนเดียว' พอตัดสินใจไปแล้ว อาจารย์เพื่อนๆ ร่วมงานก็มีคำเตือนเหมือนกัน และตัวผมเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ดีว่า ความจริงในทางการเมืองไทยมันโหดร้ายอย่างไร'
'ปิยบุตร' ระบุ เราแสดงความคิดเห็นและลงมาเคลื่อนไหวแบบตรงไปตรงมา ทั้งเสนอพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ด้วยความหวังดี พร้อมสื่อสารออกไปว่า สิ่งที่ต้องการทำคืออะไร และ 10 ปีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราจะอยู่แบบนี้ต่อไปหรือ
ทั้งนี้ 'ปิยบุตร' ย้ำในช่วงท้ายว่า 'การพยายามเสนอที่จะให้ทำพรรคการเมืองแบบใหม่ ตรงไปตรงมา ด้วยความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ถ้าเปิดใจฟังก็จะเข้าใจว่ามันไม่ได้มีอันตรายอะไร ตรงกันข้ามมันอาจจะหาโมเดลรูปแบบที่พอเหมาะพอควรให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพราะความคิดรสนิยมมีหลากหลายมากขึ้น คุณหนีไปไหนไม่ได้ แผนที่ประเทศไทยมันอยู่ตรงนี้ โดยคนจำนวนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอาจจะรู้สึกว่าเป็นทัศคติที่แปลก แต่ถ้าเราพยายามเสนอว่านี้ คือความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง เพื่อปลดออกจากความขัดแย้งและวิกฤติที่เป็นอยู่ และสื่อสารออกไปแบบตรงไปตรงมาแบบนี้น่าจะมีคนเข้าใจ และหากมีคนเห็นด้วยจำนวนมากก็จะไม่ถูกคุกคามจากการเมืองแบบเก่า'