ไม่ได้ท้าเล่นๆ 'นิสิตจุฬาฯ' โพสต์ท้า 'พล.อ.ประยุทธ์' ดีเบตหาทางออกให้ประเทศไทย ยุติทศวรรษที่สูญหาย ระบุสังคมประชาธิปไตย พลเมืองจะท้าดีเบตกับผู้นำประเทศเป็นเรื่องที่ปกติมาก
นิสิตจุฬาฯ ผู้ใช้แฟนเพจเฟซบุ๊ก Tanawat Wongchai ได้โพสต์ สาส์นท้าดีเบตเรื่องอนาคตและทางออกของประเทศไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 โดยระบุว่า
สาส์นท้าดีเบตเรื่องอนาคตและทางออกของประเทศไทย :
ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2557
ดังที่ท่านได้บอกกับพวกเราในวันที่พวกเราไปชูป้าย “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” ว่า “เวลาประเทศเสียหาย ให้ออกมาด้วยนะ” และในเวลานี้ที่ประเทศชาติเสียหายมามากพอแล้ว ผมจึงอยากจะเชิญท่านมาร่วมดีเบตกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย จากวิกฤตความน่าเชื่อถือทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พูดคุยเกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบ 4.0 และระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาของประเทศไทยในอนาคตอย่างประเด็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) และความยั่งยืนทางการคลัง (fiscal sustainability) ที่ท้าทายประเทศไทยของเราเป็นอย่างมาก รวมทั้งการถกเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลของท่านได้ประกาศไว้ แต่ในทางปฏิบัติกลับยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง
ผมจึงขอเชิญท่านมาร่วมดีเบตกับผมในเวลาและสถานที่ที่ท่านสะดวก เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความเสียหายนี้เสียที เพื่อยุติทศวรรษที่สูญหาย (lost decade) และเริ่มต้นทศวรรษใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทศวรรษที่เป็น “จุดสมดุล” ระหว่าง “ประชาชน” กับ “ประชาธิปไตย” โดยไม่มี “เผด็จการ”
หากท่านรับคำท้านี้ขอให้แจ้งเวลาและสถานที่ที่ท่านสะดวกผ่านทางสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนได้เข้าร่วมฟังเป็นสักขีพยาน และเพื่อสาธารณชนได้ร่วมชื่นชมในวิสัยทัศน์ของท่านพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้ นิสิตจุฬาฯ ผู้ใช้แฟนเพจเฟซบุ๊ก Tanawat Wongchai ก็ได้โพสต์ต่ออีกว่า
การท้า พล.อ.ประยุทธ์ ดีเบตในครั้งนี้ ผมไม่ได้ท้าเล่นๆ หรือท้าเพียงเพื่ออยากแสดงความเท่ครับ แต่ผมมีความคาดหวังอย่างเต็มที่ว่าสาส์นในครั้งนี้จะถูกตอบรับ เพราะ ผมได้ทำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับพวกเราไว้เมื่อวันจันทร์ก่อนทุกประการ ว่าให้ออกมาเมื่อประเทศเสียหาย
ในอังกฤษ นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Oxford ได้ท้าดีเบตนายกฯ ของอังกฤษอย่าง Theresa May เกี่ยวกับการตัดสินใจของเธอในการบุกโจมตีซีเรีย โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าเธอตัดสินใจโดยฟังคำสั่งจากสหรัฐฯ หรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักกันแน่ ? ในสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยมันพัฒนาไปจนถึงขีดสุด และประชากรภายในประเทศถูก enlighten ในระดับหนึ่ง การที่พลเมืองจะท้าดีเบตกับผู้นำประเทศเป็นเรื่องที่ปกติมาก โดยเฉพาะการท้าดีเบตจากนักศึกษา ให้เห็นภาพของวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันออกไปของคนรุ่นใหม่กับฝ่ายบริหารที่มักจะเป็นคนรุ่นเก่า
ผมขอย้ำว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผูกขาดเฉพาะกับคนรุ่นเก่า หากแต่คนรุ่นใหม่ก็ควรที่จะเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองด้วย ในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจในนโยบายต่างๆ จากรัฐ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เอาผู้ใหญ่อายุราว 70-80 ปีมานั่งร่าง เพื่อบังคับใช้กับพวกเรา โดยที่พวกเราไม่มีสิทธิพูด แสดงความคิดเห็น หรือต่อต้าน เช่นนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบที่มันควรจะเป็นครับ
การท้าดีเบตในครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการ trigger คสช. หรือทหารให้เล่นงานผม แต่ผมหวังดีจากใจจริงต่อประเทศแห่งนี้ ให้ผู้คนได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เข้ามาบริหารประเทศว่าเป็นอย่างไร และแตกต่างจากมุมมองที่นิสิตอย่างผมมองอย่างไร ผลสุดท้ายแล้วหากการดีเบตเกิดขึ้นจริง คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ผู้แพ้หรือชนะจากการดีเบต แต่คือประเทศไทยของเราครับ
หากคุณเคยด่ายิ่งลักษณ์ที่ไม่ยอมรับคำท้าดีเบตจากอภิสิทธิ์ คุณก็ไม่ควรปกป้องประยุทธ์จากคำเทียบเชิญในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าผมจะยังคงเป็นนิสิต แต่ผมมั่นใจในวิสัยทัศน์ที่ผมมีต่ออนาคตของประเทศนี้ ว่าจะนำพาประเทศไปสู่ทศวรรษที่ดีกว่า และยุติทศวรรษที่สูญหาย ยุติวิกฤตความน่าเชื่อถือของประเทศในหลากหลายมิติ
หากเราก้าวผ่านคำว่าเป็นไปไม่ได้ออกมาแล้ว มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างจุดสมดุลที่มีเพียงแค่คำว่า “ประชาชน” กับ “ประชาธิปไตย” โดยไม่มี “เผด็จการ” ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมนี้ครับ