ใครมีแผนเดินทางท่องเที่ยวไปกางเต็นท์สัมผัสอาหารหนาวเย็นช่วงนี้ต้องระวังให้ดี เพราะอาจโดนตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้
ช่วงนี้เข้าสู่ต้นฤดูหนาว อากาศหลายพื้นที่มีความหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาสูงและป่าไม้ และมีนักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อรับลมหนาวและกางเต็นท์นอนในป่า โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์
แต่ท่ามกลางความสวยงาม อากาศเย็นสดชื่น กรมควบคุมโรค ออกมาเตือนให้ระมัดระวังว่าจะถูก 'ตัวไรอ่อน' กัด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ และสามารถติดต่อได้ทางบาดแผลหลังจากถูกตัวไรอ่อนกัด โดยไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้าใกล้กับพื้นดิน และจะกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าและกัดผิวหนังที่สัมผัสเสื้อผ้า และมองไม่เห็นเพราะมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่จะถูกกัดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว โดยหลังจากถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก มีไข้สูงตลอดเวลา หนาวสั่น ตาแดงคลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดจะเป็นแผลบุ๋มสีดำคล้ายรอยไหม้จากบุหรี่จี้ มีผื่นแดงตามร่างกาย แต่จะไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต
สำหรับคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า แนะนำให้กางบริเวณโล่งเตียน เลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุง จะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณป่าโปร่ง ป่าละเมาะ และหลังออกจากป่าให้อาบน้ำและนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักด้วยผงซักฟอกเข้มข้น หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422
จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– 14 ตุลาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 7,192 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยภาคเหนือมีอัตราการป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ตามลำดับ