สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สปป.ลาวมีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 100 เขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 28,000 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าที่จะจ่ายกระแสไฟเข้าระบบภายในปี 2020 พลังงานที่ผลิตได้ราวร้อยละ 85 จะขายให้แก่ประเทศไทย โดย 2 ใน 3 ของกระแสไฟฟ้าส่วนนี้จะป้อนมายังกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล และความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย รวมถึงเวียดนาม กัมพูชา และจีน ประกอบกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ คือแรงผลักดันเบื้องหลังที่ลาวตัดสินใจรับบทเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย”
ขณะที่ ลาวมีเขื่อนพลังน้ำที่เปิดใช้งานแล้ว 46 เขื่อน มีกำลังการผลิต 6,400 เมกกะวัตต์ และมีแผนจะสร้างอีก 54 เขื่อน ถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ในเวลาอีก 2 ปี ลาวจะผลิตไฟฟ้าได้เกือบเท่าปริมาณที่ประเทศไทยใช้ใน 1 ปี ทั้งนี้ลาวหวังว่า ภายในปี 2020 ประเทศจะยกระดับพ้นสถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างตามคำนิยามของธนาคารโลกประชากรจะมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ปีละ 82,000 บาท
แม้ว่าลาวกำลังจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเกือบเท่าปริมาณการใช้ต่อปีของไทย แต่พื้นที่ชนบทของลาวยังมีไฟฟ้าใช้แบบติดๆ ดับๆ หมู่บ้านห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าไปถึง
โครงการเขื่อนพลังน้ำส่วนใหญ่ สร้างและดำเนินงานโดยบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทของไทยกับจีน ก่อนที่จะมอบโอนให้แก่รัฐบาลลาวภายในระยะเวลา 20-30 ปี
โดยทุนไทยที่ลงทุนเขื่อนในลาว ได้แก่
- เขื่อนน้ำงึม 3 กำลังผลิต (480 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 414 เมกะวัตต์
- เขื่อนน้ำงึม 2 กำลังผลิต (615 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ไทยทั้งหมด
- เขื่อนน้ำเทิน 2 กำลังผลิต (1,070 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 995 เมกะวัตต์
- เขื่อนห้วยเฮาะ กำลังผลิต (150 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 126 เมกะวัตต์
- เขื่อนไซยะบุรี กำลังผลิต (1,285 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 1,225 เมกะวัตต์
- เขื่อนเทิน-หินบุน กำลังผลิต (120 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 187 เมกะวัตต์
- เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิต (410 เมกะวัตต์) ขายไฟให้ กฟผ. 370 เมกะวัตต์