แอปเปิลรับวิศวกรเพิ่ม เร่งพัฒนา 'สิริ'
แอปเปิลประกาศรับสมัครตำแหน่งวิศวกรด้านซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น เพื่อมาร่วมงานกับออฟฟิศของแอปเปิลในทุกทวีปทั่วโลก ในการพัฒนาการเชื่อมโยงประสบการณ์ผู้ใช้งานและผู้ช่วยคำสั่งเสียงอัจฉริยะ 'สิริ' ให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยรายงานจาก ธิงค์นัม (Thinknum) เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลแนวคิดการลงทุน ระบุว่า แอปเปิลได้เปิดรับสมัครวิศวกรเพิ่มเติมกว่า 161 ตำแหน่ง โดยจะประจำที่สำนักงานใหญ่ใน ซานตา คลารา วัลเลย์ (Santa Clara Valley) 125 ตำแหน่ง และที่เหลือจะกระจายไปประจำในทุกทวีปทั่วโลก โดยแอปเปิลระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการวิศวกรตำแหน่ง 'Siri Software Engineer' และตำแหน่ง 'Siri iOS Engineer'
สื่อเทคโนโลยีหลายแห่งรายงานว่า ผู้ช่วยคำสั่งเสียงสิริของแอปเปิล ยังทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งในท้องตลาดอย่าง แอมะซอนอเล็กซา และกูเกิลแอซซิสแทนต์ โดยผลการทดสอบจาก ลูป เวนเจอร์ (Loup Ventures) บริษัทด้านการลงทุนระบุว่า ผู้ช่วยคำสั่งเสียงสิริ บนแอปเปิลโฮมพอดสามารถตอบคำถามมาตรฐานทั่วไปได้ถูกต้องเพียง 52 เปอร์เซ็น จากทั้งหมด 782 คำถาม ในขณะที่กูเกิลโฮมตอบได้แม่นยำถึง 81 เปอร์เซ็น และตามมาด้วยแอมะซอนเอคโคตอบถูก 64 เปอร์เซ็น การที่แอปเปิลประกาศรับสมัครวิศวกรซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้สิริ ฉลาดมากขึ้นในเร็วๆนี้
กูเกิลเตรียมปิดตัวบริการย่อลิงก์ 'goo.gl'
กูเกิลประกาศปิดตัวกูดอตจีแอล (goo.gl) บริการย่อลิงก์ยูอาร์แอลให้สั้นลง โดย ไมเคิล เฮอร์แมนโต วิศวกรจาก ไฟร์เบสซอฟต์แวร์ (Firebase Software) กล่าวว่า บริการย่อลิงก์ยูอาร์แอลนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2009 และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และกูเกิลได้เปลี่ยนมาใช้ เอฟดีแอล หรือ 'ไฟร์เบส ไดนามิก ลิงก์' (Firebase Dynamic Links) แทน ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านระบบไอโอเอส แอนดรอยด์หรือบราวเซอร์บนสมาร์ตโฟนอื่นๆได้
ทั้งนี้ผู้เข้าใช้งานใหม่ และผู้ใช้งานแบบนิรนามจะไม่สามารถใช้บริการย่อลิงก์กูดอตจีแอลได้อีกต่อไปหลังจากวันที่ 13 เมษายนนี้ ส่วนผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิกของกูเกิลอยู่ก่อนแล้ว สามารถใช้งานได้ถึง วันที่ 30 มีนาคมปีหน้า ก่อนจะปิดตัวอย่างเป็นทางการ และลิงก์ที่ได้ทำการย่อไว้แล้วจะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
เฟซบุ๊กพัฒนาเครื่องมือต้านโฆษณา
หลังจากที่เฟซบุ๊กโดนกระแสข่าวด้านลบโจมตีไป และได้ทำการปรับอัลกอริทึมบางส่วนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด เฟซบุ๊กออกมาประกาศเตรียมพัฒนาเครื่องมือเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานมากขึ้น โดยเครื่องมือดังกล่าวให้ผู้ใช้งานมีสิทธิในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บริษัทโฆษณานำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ เช่น ที่อยู่อีเมล์ เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้ด้านบริษัทโฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใช้งานก่อนจึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ และยิงโฆษณาให้ตรงตามความสนใจของผู้ใช้งานคนนั้นๆได้
เทคครันช์ เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานว่า เครื่องมือของเฟซบุ๊กนี้จะอนุญาตให้บริษัทโฆษณาอัปโหลดรายชื่อข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า จากนั้นเฟซบุ๊กจะทำการจับคู่ข้อมูลเหล่านั้นเปรียบเทียบกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพื่อให้บริษัทโฆษณาปล่อยเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเข้าถึงความสนใจในแต่ละตัวบุคคลมากขึ้น แต่ต้องได้รับการรับรองจากผู้ใช้งานก่อน ซึ่งเฟซบุ๊กคาดหวังให้เครื่องมือนี้เป็นตัวช่วยป้องกันการแชร์ข้อมูลข้ามไปมาระหว่างบัญชี และเฟซบุ๊กต้องการให้บริษัทโฆษณาได้เรียนรู้และตระหนักถึงวิธีการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย