ดูละคร 'ออเจ้า' ไม่ได้หมายความว่าจะหย่อนบัตรกากบาทเลือกการปกครองยุคก่อนมีโซเชียลมีเดีย 'ชาญวิทย์' มองปรากฏการณ์ทหารดึงนักการเมืองไปเป็นพวก อาจนำไปสู่การลุกฮือของประชาชน ทำนาย คสช. ไม่น่าจบสวย
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ Voice TV กรณี คสช. แต่งตั้งนักการเมืองเป็นที่ปรึกษา โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีการดึงนักการเมืองมาร่วมงานด้วยแต่สุดท้ายควบคุมไม่ได้ นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ผมว่าคล้ายๆ จอมพลถนอม พรรคสหประชาไทย ไปเก็บๆ นักการเมืองมาแล้วก็เลือกตั้ง พอเลือกตั้ง ท่านก็สามารถเป็นนายกคนนอกได้ในปี 2512 อยู่ไปอยู่มา นักการเมืองที่ไปเก็บมาก็คุมไม่ได้ นำไปสู่การรัฐประหารตัวเอง 2514 นำมาซึ่งการลุกฮือของนิสิตนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ผมสงสัยว่าทหารรุ่นน้องๆ คงไม่ค่อยสนใจวิชาประวัติศาสตร์ คือไม่ได้ดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับรุ่นพี่ อย่าง จอมพล ป พิบูลสงครามกับจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.สุจินดา คราประยูร
ทหารไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์เท่าไหร่ คงคิดว่ายุคสมัยของเขาไม่เหมือนรุ่นพี่ แต่คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็อาจจะไม่คิดว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
สำหรับเหตุการณ์ในยุค คสช. มองว่าไม่น่าจะจบสวย น่าเป็นห่วง
ทหารคุมนักการเมืองไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ทหารก็คุมกันเองไม่ได้ จอมพล ป ถูกรุ่นน้องคือจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ถูกรุ่นน้องคือพล.อ.สุจินดา ยึดอำนาจ ดังนั้น ตัวอย่างเหล่านี้ก็มีมาแล้วในประวัติศาสตร์
ตอนนี้ก็ดูไปว่าเราจะก้าวข้ามไปแบบไหน สิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เกิดต้มยำกุ้ง 2540 เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ลิ้มรสประชาธิปไตยมากมหาศาล ผมคิดว่า เรามาถึงจุดซึ่งการเมืองไทยไม่สามารถกลับไปสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างจอมพลถนอมพยายามทำ หรือกลับไปสมัยที่ไม่มีเลือกตั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ เรากลับไปไม่ได้แล้ว เมืองไทยเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาล ชนชั้นกลางระดับล่างเปลี่ยนไปหมด แต่เขาจะแสดงออกได้หรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แล้วถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562 เชื่อว่าโซเชียลมีเดีย จะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะผู้คนมีข้อมูล ไม่ได้อยู่อย่างเลื่อนลอย
แม้ผู้คนอาจจะสนุกสนานกับการดูละคร 'ออเจ้า' แต่งตัวไปเซลฟี แต่วันไปลงคะแนน เขาจะออเจ้าหรือเซลฟี? เมื่อคนจำนวนเยอะอยู่กับโลกของความจริงมากกว่าความฝัน'