ไม่พบผลการค้นหา
'ชาญวิทย์' ซัดหนังสือกรมศิลป์ฯ ไม่ผ่านแม้แต่ความเป็นสารนิพนธ์
Apr 19, 2018 06:01

มอง ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ เวอร์ชั่นกรมศิลปากร(2558) เป็นหนังสือตลก โฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์ผู้ปกครอง ไม่ใช่งานวิชาการ เหตุตัดแปะ copy - paste เรียงเป็นเล่ม ฟันธงเรื่องที่ยังฝุ่นตลบตามทัศนะ 'ผู้ชนะ' เขียนประวัติศาสตร์  

 Voice TV สัมภาษณ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากโซเชียลมีเดียเกิดกระแสฮือฮา เมื่ออาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แชร์หนังสือ 'ประวัติศาสตร์ชาติไทย' ของกรมศิลปากร ที่เขียนยกย่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 โดย อ.ชาญวิทย์ เคยเขียนวิจารณ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่มกราคม 2560 

เมื่อหนังสือของกรมศิลปากรกลับมาฮือฮาอีกครั้ง อ.ชาญวิทย์ จึงแนะนำให้อ่านคู่กับ 'ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของใคร' หนังสือรวมบทความแจกในงานฌาปนกิจศพ คุณพ่อเซ่เกี๊ยก แซ่เจีย (คุณพ่อของ ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ) 21 พฤศจิกายน 2558 ณ วัดปัจฉิมทัศน์ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม 


-ประวัติศาสตร์ชาติไทย จากกรมศิลปากร จะสร้างปัญหาอย่างไร  

หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับราชการ เพราะมีการสั่งการตามลำดับจากนายกรัฐมนตรีลงไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ไปถึงอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งทีมทำงานโดยทำงานอย่างรีบร้อนภายในเวลา 2 เดือน หนังสือออกมา 200 กว่าหน้าในปี 2558 ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยนักประวัติศาสตร์ชั้นนำ เช่น ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แล้วหนังสือก็เงียบหายไป เพราะหนังสือมีข้อบกพร่องมากๆ และไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นตำราเรียน 

หนังสือเล่มนี้เป็น 'ประวัติศาสตร์ชาตินิยมพันธุ์ทาง' หัวมังกุท้ายมังกร ซึ่งถ้าใช้เป็นแบบเรียนหรือหนังสืออ่านประกอบจะสร้างความลำบากให้กับครูบาอาจารย์ในระดับมัธยมมากๆ พร้อมสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้นักเรียนอย่างยิ่ง จะเกิดผลลบต่อทั้งวิชาประวัติศาสตร์ รวมถึงฝ่ายรัฐบาลและราชการเองด้วย 

หนังสือทำขึ้นด้วยความรีบร้อน จึงคล้ายๆ วิทยานิพนธ์ หรือสารนิพนธ์เล่มเล็กๆ ที่ทีมนักศึกษาปริญญาตรีหรือปริญญาโทจับกลุ่มกันทำ 

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย งานวิทยานิพนธ์แบบนี้เรียกว่า ใช้กรรไกรกับกาวตัดแปะ คือไปอ่านมาแล้วถ่ายเอกสารมาตัดแปะ ต่อกันให้เป็น 1 เล่ม

สมัยปัจจุบัน ก็คือ copy – paste ค้นในกูเกิ้ล แล้วก๊อบปี้มาวางต่อๆ กัน หนังสือซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ในแง่โครงสร้างของงานเขียนใช้ไม่ได้ ถ้าเข้าไปในกรรมการวิทยานิพนธ์ หรือสารนิพนธ์ เล่มนี้ไม่ผ่านเด็ดขาด ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ก็ตาม นี่คือความบกพร่อง 

เหมือนกับทีมงานกรมศิลปากรอาจจะไม่ได้ประสานงานกัน แม้จะตั้งผู้เชี่ยวชาญระดับบิ๊กๆ บรรดาศาสตราจารย์ทั้งหลาย แต่เชื่อว่า ไม่มีการปรึกษาหารือ คือรวมความแล้วมีความบกพร่องมากมายมหาศาล

ถ้าเราดูเนื้อหาก็จะเห็นว่ามีปัญหามากๆ ขณะที่เล่มนี้ เป็นมากกว่าวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ เพราะทำท่าจะกลายเป็นตำราเรียนฉบับราชการซึ่งมาจากนายกรัฐมนตรี มาจากรัฐมนตรี มาจากอธิบดี 

ผมได้อ่านอย่างละเอียดเพราะต้องวิเคราะห์ให้นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเมื่อต้นปี 2560 หนังสือแบ่งเป็น 3 ส่วน ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์กลับไปเป็นล้านปี บทนี้ทีมที่รับผิดชอบทำงานหนักแต่อ่านแล้วอาจจะน่าเบื่อเพราะเป็นวิชาการหนักๆ และไกลตัวมากๆ ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เป็นประวัติศาสตร์โบราณอย่างที่เรารู้กันไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีวัดไม่มีประชาชน มีแต่ผู้นำวีรบุรุษวีรสตรี และส่วนที่ 3 เป็นยุคตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 จนถึง คสช. คือส่วนที่มีปัญหามากที่สุด แล้วเป็นส่วนซึ่งใครที่อ่านก็มุ่งมาดูตรงนี้ ซึ่งสั้นเพียง 15 หน้า มีข้อความเลือกฝ่ายเลือกสี ก็แปลว่าเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ที่ยึดอำนาจได้ในปี 2549 กับ 2557 


-ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ 

อย่างที่รู้กัน ประวัติศาสตร์มักเขียนโดยผู้ชนะ ดังนั้นก็สะท้อนทัศนคติของผู้ชนะ อย่างเล่มนี้ของกรมศิลปากร เรียกว่าเข้าล็อคประวัติศาสตร์แบบโบราณก่อนยุคโซเชียลมีเดีย  

ดังนั้น 'ผู้แพ้' ก็เป็น 'ผู้ร้าย' นี่ชัดเจนมาก ในตอนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ มีอยู่ 15 หน้า เป็นเรื่องสมัยใหม่ คือประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 จนกระทั่งปัจจุบันสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งตอนนี้ยังเป็นผู้ชนะอยู่ จึงเขียนตามทัศนคติ แบ่งค่าย แบ่งสีเสื้อชัดเจนมากๆ 

คนเขียนก็กล้าเขียนลงไปได้ทั้งที่หลายอย่างในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ฝุ่นยังฟุ้ง ยังตลบอบอวน ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร แต่ตอนสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ฟันธงบางเรื่องที่โดยทั่วไปน้อยคนจะฟันธง

แล้วกรณีรัฐประหาร 2549 กับรัฐประหาร 2557 ก็ฟันธงว่านายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาความชอบธรรม ทุจริตการเลือกตั้ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีปัญหานโยบายผิดพลาดเสียหายมากมายมหาศาลเรื่องจำนำข้าว 

แล้วกระโดดข้ามมาว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นประชาธิปไตย ซึ่งกลับหัวกลับหางฟ้ากับดิน ทั้งครูและนักเรียนที่อ่านก็คงเข้าใจ เพราะใคร��� ก็มีข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดีย มันก็เลยจะกลายเป็นหนังสือตลก 

ส่งผลลบในแง่กลายเป็นหนังสือที่ไม่เป็นวิชาการ หนังสือนี้เป็นหนังสือโฆษณาประชาสัมพันธ์ขายสินค้า 


-บันทึกประวัติศาสตร์อย่างเที่ยงธรรม 

ผมว่าต้องมองจาก 2 ด้าน ให้เกิดการเปรียบเทียบและเที่ยงธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาประสบการณ์ของผู้เขียนด้วย เวลาเราอ่านต้องดูว่าใครเขียน อย่างเล่มนี้เขียนเป็นทีม แต่ถ้าเขียนคนเดียวเราก็พอจะเดาออก เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ท่านตั้งเป้าลัทธิชาตินิยม ต้องการเน้นความรักชาติความเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งประวัติศาสตร์แบบนั้นล้าสมัยไปแล้ว แต่เนื่องจากวิชาประวัติศาสตร์ถูกคุมเข้มจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม จึงกลายเป็นงานที่ไม่ใช่วิชาการ เป็นงานประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ เป็นเรื่องอุดมการณ์ของผู้ปกครอง 


-ตัวเอกตัวร้ายในประวัติศาสตร์ 

คนที่ชนะในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ วาดภาพพระเพทราชากับพระเจ้าเสือเป็นผู้ร้ายในพงศาวดาร 2 พ่อลูกนี้เป็นกบฏ แต่ในละครบุพเพสันนิวาส เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะบอกว่ามันไม่ถึงขนาดนั้นเพราะพระเพทราชาก็ยังดูเป็นมนุษยมนามากกว่าเป็นผู้ร้าย 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคนเขียน 

 

-แนะนำอ่านประวัติศาสตร์อีกด้าน 

หนังสือ 'ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของใคร' เล่มนี้เป็นหนังสืองานศพ คุณพ่อของ ดร.ทวีสิน สืบวัฒนะ ม.มหาสารคาม ซึ่งเป็นอาจารย์ของน้องคนที่เปิดโปงทุจริตเงินคนจน เล่มนี้มีบทความหลายคน เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดย บทความอาจารย์นิธิเสนอว่า ข้อสังเกตประวัติศาสตร์แห่งชาติควรจะเป็นยังไง ควรจะดูจากมุมไหน หรือข้อเขียนอาจารย์ศรีศักดิ์ เรื่องประวัติศาสตร์สังคมไทย มองจากข้างบนหรือข้างล่าง พูดง่ายๆ ว่าเราต้องดูจากข้างล่าง นอกจากนั้นมีบทความภาษาอังกฤษโดย ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ดันแคน แมคคาร์โก และอีกหลายคน 

เล่มนี้พิมพ์ด้วยเงินส่วนตัวแจกในงานศพ ความจริงถ้าราชการจะให้พิมพ์เป็นหมื่นๆ เล่ม ด้วยเงินภาษีอากรก็จะเป็นประโยชน์มากๆ เป็นหนังสืองานศพที่ไม่ใช่นั่งสรรเสริญเยินยอผู้ตายตามปกติ แต่มีความเป็นวิชาประวัติศาสตร์ มหาศาล