รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2563
“ครูใหญ่–อรรถพล” แม้ปราศรัยสร้างเสียงหัวเราะ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่ต้องขึงขัง เชื่อ! พลังของคนจะออกมาอีกเพียบ ถ้า “ประยุทธ์” ยังไม่ออกคืนนี้ (24 ต.ค.) ลั่น! ยังไงก็ต้องออก เพราะเป็นศูนย์กลางของปัญหา
แม้พิธีกร Talking Thailand ถามชง ถ้า “ประยุทธ์” อยู่ต่อและแก้รัฐธรรมนูญ แต่ “ครูใหญ่” บอก “ออกไปเถอะ” เพราะไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่ร่าง รธน.ปี 60 แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ อ.เกาะสมุย ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร โดย ระบุว่า หลักใหญ่ที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง เคยพูดกันคือ ไม่ประสงค์จะใช้ความรุนแรง ฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันว่าต้องการยึดแนวทางสันติ ก็น่าจะผ่านพ้นไปได้ และถ้ามีประเด็นค้างคาก็สามารถพูดจากันเพื่อหาทางออกร่วมกันในที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญ
“ผมได้เสนอทางออกไปแล้วว่า อย่างน้อยพรรคฯ อยากเห็นผลการประชุม 2 วัน ในที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ได้ข้อสรุปในการตั้ง กมธ. ขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่เห็นพ้องหรือตรงกัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำไปปฏิบัติให้บรรลุผล ส่วนที่ยังไม่ตรงกัน เห็นแย้งกัน ก็ใช้เวลานิดนึงในการคุยกันต่อไป ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป ถ้าเป็นแนวทางนี้ คิดว่าบ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของเราก็ยังเดินหน้าได้ เห็นชัดว่ารัฐสภาเป็นที่พึ่ง เป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง / เชื่อว่าทุกฝ่ายก็อยากมีประชาธิปไตยเกิดขึ้น ถ้าอยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริงๆ เดินหน้าต่อได้จริงๆ ต้องช่วยกันใช้รัฐสภาเป็นวิธีร่วมกันในการแสวงหาทางออก” นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนที่บางฝ่ายเห็นว่า รัฐบาลต้องการเปิดสภาฯ เพื่อต้องการถล่มฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น นายจุรินทร์ ระบุ ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะการเปิดสภาสมัยวิสามัญ เกิดจากเสียงเรียกร้องของทุกฝ่าย ประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองที่แถลงตั้งแต่ต้นว่า เราอยากเห็นการเปิดสภาสมัยวิสามัญ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสมาชิก ก็ไปหาหรือร่วมกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็เห็นตรงกัน ฉะนั้นรัฐบาลคิดว่าถ้าจะเป็นเจ้าภาพก็จะทำให้ทุกอย่างเกิดเร็วขึ้น เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ครม. ก็สามารถเสนอได้เลย ไม่ต้องรอให้พรรคการเมือง ต้องใช้เวลาล่ารายชื่อสมาชิกรัฐสภาเพื่อมาลงชื่อ กว่าจะครบ ก็จะทำให้ต้องใช้เวลาล่วงเลยไป
“จึงถือว่าเป็นเจตนาดีของรัฐบาล และรัฐบาลได้เสนอชัดเจนว่าเมื่อเปิดสภาแล้ว ก็อยากให้ใช้มาตรา 165 เพื่อนำญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป รับฟังความเห็นของสมาชิกโดยไม่ลงมติ จะช่วยให้ทุกฝ่ายนำความเห็นมาพูดคุยกัน แสวงหาทางออกร่วมกันได้ เพื่อให้รัฐสภาและเป็นวิธีหาทางออกให้ประเทศได้อย่างแท้จริง ทั้งหมดเป็นเจตนาดีของรัฐบาลไม่ได้เป็นเจตนาร้าย ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันได้เพราะเป็นผู้เสนอเองในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และขณะเดียวกันก็นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี แล้วก็ให้การสนับสนุนด้วย เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายใช้เหตุใช้ผลในการอภิปรายและจริงใจในการที่จะร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ” นายจุรินทร์ กล่าว
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ได้เชิญ ส.ส. ร่วมประชุมกรณีพิเศษในวันที่ 25 ต.ค. เวลา 16.00 น. เตรียมความพร้อมการประชุม โดยจะกำหนดบุคคลอภิปราย ตามเวลาที่ได้รับจัดสรร โดยพรรค เน้นอภิปรายอย่างสร้างสรรค์แบบมีวุฒิภาวะ ด้วยเนื้อหาสาระ ช่วยกันร่วมมือแสวงหาทางออกจากปัญหาทางการเมือง ตามจุดยืนของพรรค 3 ประการคือ
1.ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ง
2.การแก้ปัญหาควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
3.ใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกของประเทศ
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั้น นายองอาจกล่าวว่า การแก้ไขปัญหามีหลายวิธี การใช้เวทีรัฐสภา มีผู้แทนประชาชน ที่มีหลากหลายความเห็นที่ต่างกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อหาทางออกให้ประเทศเป็นอีกทางหนึ่ง จะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องใช้เวทีรัฐสภา แก้ปัญหาบนพื้นฐานความจริงใจ คำนึงถึงประเทศเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้ทุกคน ทุกฝ่ายเชื่อในระบบรัฐสภา หนึ่งในสถาบันที่มีตัวแทนประชาชนทุกตำบล ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด มา ร่วมกันสะท้อนความเห็นที่ได้รับฝากประเด็นต่างๆ ได้ ส่วน ส.ส. ของพรรค ได้รับฟังทุกความคิดเห็นมาแล้ว ส.ส. ของพรรคจะได้นำเสนอข้อมูลอย่างละเอียด รอบด้าน เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ และญัตติรัฐบาลที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในญัตติ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องการความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา โดยข้อคิดเห็นเหล่านั้นจะถือเป็นสาระสำคัญที่รัฐบาลต้องการเพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาต่อไป
นายราเมศ เชื่อว่า ประธานรัฐสภาจะให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ภายใต้ข้อบังคับการประชุม โดยเฉพาะการที่กำหนดเวลาให้ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมงนั้น ถือว่ามีสัดส่วนจำนวนชั่วโมงมากกว่าฝ่ายอื่น ฝ่ายค้านน่าจะใช้โอกาสนี้สะท้อนข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้ข้อบังคับการประชุม ระบุค่อนข้างชัดว่า ห้ามอภิปรายพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น ดังนั้นสมาชิกก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน และหากเป็นไปได้ สิ่งที่อยากเห็นคือการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร็วที่สุด เพื่อให้รับหลักการในสมัยประชุมวิสามัญ จะเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เห็นว่าทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ