เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปัญหาซ้ำซากเรื่องข้อพิพาทระดับทวิภาคี 'ไอเอ็มเอฟ' ชี้ควรสร้างนโยบายการค้าใหม่ ยุติการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ พร้อมหันหน้าสร้างความร่วมมือระดับพหุภาคี ควบคู่สร้างเศรษฐกิจเติบโตจากภายในประเทศ
รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ฉบับล่าสุด ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น นักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.2 ขณะที่ตัวเลขของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขประมาณจากเดือนเมษายนลงมาร้อยละ 0.1 ในทั้งสองปี
ผลประโยชน์ที่ตกลงกันไม่ได้ในระดับทวิภาคี หรือ 2 ประเทศ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันและโตต่อไม่ได้ ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ประหว่าง 2 ฝ่าย สะท้อนออกมาให้เห็นด้วยประเด็นพิพาทที่ยืดเยื้อ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ภาวะไร้ทางออกของเบร็กซิตระหว่างสหราชอาณจักรและสหภาพยุโรป และประเด็นเขตการค้าเสรี ที่ครอบคลุมถึง 3 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐฯ
เมื่อโลกกำลังอยู่ท่ามกลางความไม่ลงรอยของบรรดาประเทศมหาอำนาจ ระดับความไม่แน่นอนจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
แม้บางช่วงเวลาจะมีข่าวดีออกมาบ้าง อาทิ การสงบศึกชั่วคราวของสหรัฐฯ และจีน แต่การกลับคำไปมาของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือการพร้อมตอบกลับด้วยนโยบายกำแพงภาษี หรือการโจมตีบริษัทด้านโทรคมนาคมของแต่ละประเทศ ก็ทำให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันจะดีขึ้นได้จริง หากทั้งสองประเทศยังไม่สามารถยุติสงครามครั้งนี้ได้อย่างสิ้นซาก
ตัวเลขสะท้อนความอืดอาดของเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว โดยภาพรวมในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ขณะที่ตัวเลขในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7
เมื่อแยกรายประเทศ สหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2562 ได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีทั้งปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 มากกว่าการคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายนร้อยละ 0.3 ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลจะผ่อนลง อีกทั้งสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อุปสงค์ภายในประเทศและการนำเข้าต่ำลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีต่างๆ
ฝั่งสหภาพยุโรป ตัวเลขจีดีพีคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ในปี 2562 และ จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนร้อยละ 0.1 เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยชั่วคราวต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้ง การจดทะเบียนรถยนต์ในเยอรมนี และ การประท้วงในฝรั่งเศส
สหราชอาณาจักรมีแนวโน้มจีดีพีปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 0.1 ทั้งในปี 2562 และ 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.4 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2562 ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเบร็กซิตยังคงเป็นตัวแปลสำคัญกระทบกับจีดีพีของสหราชอาณาจักรได้ตลอดเวลา
ขณะที่ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา โดยรวมในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.7 ในปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายนร้อยละ 0.3 และ 0.1 ตามลำดับ
ในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าปีนี้จีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และปีหน้าร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงร้อยละ 0.1 จากการคาดการณ์ครั้งก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากกำแพงภาษีด้านการค้าและการลงทุน ในจีน ปัญหามาจากทั้งสงครามการค้าและอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนลง ส่งผลกระทบกับสภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งยังต้องการมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อจัดการกับหนี้ที่สูงขึ้น
แก้ปัญหาที่ปัญหาไม่ใช่ที่ผลประโยชน์
เมื่อการตกลงกันไม่ได้ระหว่างประเทศคือปัญหาที่ทำให้โลกเดินหน้าต่อไม่ได้ ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าระดับทวิภาคี โดยใช้ความร่วมมือจากพหุภาคีเข้ามากดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้า และยุติการใช้กำแพงภาษีเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้าระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันแต่ละประเทศก็ควรเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง โดยเริ่มจากการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศเพื่อการพัฒนาระยะยาว ทั้งนี้การลดระดับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลงยังเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและส่งผลให้เกิดอานิสงค์ต่ออุปสงค์ภายใประเทศ ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากภายในและไม่ต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศมากจนเกินไป
สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เมื่อเศรษฐกิจนิ่ง อัตราเงินเฟ้อจึงตกต่ำ การดำเนินการนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตามมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายอาจสร้างความอ่อนแอให้ระบบการเงิน ดังนั้นมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือนหรือมาตรการดูแลในเชิงป้องกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน
สำหรับเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่อยู่ท่ามกลางการอ่อนตัวของภาวะเงินเฟ้อ เอื้อให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่าปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับภาวะหนี้สูง ซึ่งควรใช้นโยบายการคลังที่มีการควบคุมดูแลหนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การสร้างความสมดุลของงบดุลยังเป็นเรื่องสำคัญมากในภาวะที่ความรู้สึกด้านการเงินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่ารายงานชิ้นนี้จะอิงประเด็นเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วนี่คือการสะท้อนและเตรียมพร้อมของเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเราเป็นประเทศที่เน้นการทำการค้าและการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของเราจึงกลายเป็นเครื่องบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศเราได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น คำแนะนำคือสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแรงด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดีขึ้น ก็เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนได้ดีที่สุด เพราะเราไม่ต้องไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ