แม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้คนลบชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองทิ้ง จากดราม่าเฟซบุ๊กทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลจนเกิดการเคลื่อนไหวด้วยแฮชแท็ก #DeleteFacebook ที่ทวีตกันทั่วโลก แต่ข้อมูลล่าสุดก็ระบุว่า คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมลบเฟซบุ๊กของตัวเองทิ้งอยู่ดี
จากเหตุการณ์วุ่นวายระหว่างเฟซบุ๊ก และแคมบริดจ์ แอนาลิติกา ที่ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเสื่อมศรัทธาต่อเฟซบุ๊ก เนื่องจากไม่สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ไว้ได้ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหนผ่านแฮชแท็ก #DeleteFacebook ที่รณรงค์ให้คนลบเฟซบุ๊กของตัวเองทิ้ง ล่าสุด Sysomos ได้ออกมาเผยรายงานที่ระบุว่า เอาเข้าจริงๆ คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ลบชื่อบัญชีเฟซบุ๊กทิ้งอยู่ดี
ซิสโซมอสพบว่ามีคนที่ทวีตแฮชแท็ก #DeleteFacebook เพื่อประกาศว่าตัวเองจะลบเฟซบุ๊กทิ้ง มากกว่า 400,000 ทวีต ในช่วงเวลา 30 วันที่ผ่านมา โดยมากกว่าครึ่งเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ก็เป็นที่หนักอกหนักใจของเฟซบุ๊กและนักลงทุนจนทำให้หุ้นเฟซบุ๊กร่วงฮวบในช่วงสัปดาห์ก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบสาวข้อมูลลึกลงไปกลับพบว่า แม้จะทวีต #DeleteFacebook กันมากมาย แต่มีคนจำนวนน้อยมากที่ลงมือลบจริงๆ และยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังระบุอีกว่าคนใช้เฟซบุ๊กกลับเพิ่มมากขึ้น โดยในสหรัฐฯ และอังกฤษ กลับมีตัวเลขคนใช้งานเฟซบุ๊กเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าประชาชนในประเทศนี้จะเป็นกลุ่มที่ทวีตเรื่องลบเฟซบุ๊กมากที่สุดก็ตาม
จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กในอินเดียก็เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาสามเดือน อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ลดลงคือความถี่และระยะเวลาของการใช้เฟซบุ๊กในแต่ละครั้ง แต่การใช้งานเฟซบุ๊กที่ลดลงก็เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาก่อนที่เรื่องของแคมบริดจ์ แอนาลิติกา จะกลายเป็นข่าวขึ้นมา
ดังนั้นถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่แสดงความคิดเห็นเรื่องเฟซบุ๊กกับความไม่ปลอดภัยของข้อมูล แต่ก็ยังใช้เฟซบุ๊กอยู่เหมือนเดิม ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ลบเฟซบุ๊กทิ้งเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ หากจะใช้เฟซบุ๊กต่อไปก็ต้องทำความเข้าใจว่าความเสี่ยงคืออะไร และหาข้อมูลว่าทำอย่างไรให้ความเสียงนั้นลดลงให้ได้มากที่สุดด้วย