หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ คือการส่งเสริมการใช้ยางพาราภาครัฐ ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ร่วมกับ สกอ. คิดค้นหน้ากากยางพาราป้องกันสารพิษ ช่วยลดงบประมาณทางทหารในการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
หน้ากากที่เจ้าหน้าที่ทหาร สวมใส่ขณะปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง ป้องกันสารเคมีเข้าสู่ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ ความพิเศษของหน้ากากป้องกันสารพิษชิ้นนี้ คือผลิตจากยางพารา 100 เปอเซนต์ คิดค้นโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก และ สำนักงานคณะกรรมการการอุมดมศึกษา หรือ สกอ. ผ่านการทดสอบคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล ของหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร ในกลุ่ม CBRN ภายใต้มาตรฐานขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือแล้ว เหลือเพียงรอการทดสอบมาตรฐานภายในประเทศ โดยกองทัพบก
เลขาธิการ สกอ. บอกว่า การผลิตยุทโธปกรณ์ทางกองทัพ เป็นตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าของยางพารา ท่ามกลางปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หากส่งเสริมให้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้น
ที่ผ่านมา กองทัพไทยนำเข้าหน้ากากป้องกันสารพิษในปริมาณมากด้วยราคาสูง ความร่วมมือระหว่างกองทัพและสกอ. ช่วยลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมในการนำเข้ายุทโธปกรณ์ได้เป็นอย่างมาก
รองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก เปิดเผยว่า หลังจากนี้เตรียมเสนอความสำเร็จขั้นต้น ของโครงการผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษ ต่อกระทรวงกลาโหม คาดว่า สามารถผลิตใช้งานจริง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
โครงการวิจัย ‘การพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ในประเทศ’ ได้รับงบสนับสนุนจาก สกอ. กว่า 3.8 ล้านบาท และงบฯกลางกว่า 150 ล้านบาท เพื่อสนองนโยบายรัฐในการใช้ยางพาราผลิตยุทโธปกรณ์
รองศาสตราจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย บอกว่า ต้นทุนการผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษจากยางพาราอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทต่อชุด ขณะที่หน้ากากที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาประมาณ 18,000 บาท
รายงานโดย นัดดา พิศูจน์