ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์อ้างข้อมูลหน่วยงานสหรัฐฯ เตือนภัยเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติเตรียมโจมตีระบบตู้เอทีเอ็มทั่วโลกเพื่อขโมยเงินสด-ยกตัวอย่างธนาคารในไทยและสหรัฐฯ ถูกแฮกด้วยมัลแวร์เมื่อปี 2559 สูญเงินนับสิบล้าน
'ไบรอัน เครบ' ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และบล็อกเกอร์ชื่อดังในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอได้ประกาศเตือนธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ตรวจสอบและปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการตู้เอทีเอ็ม เพื่อเตรียมรับมือกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติที่วางแผนก่อเหตุโจมตีระบบธนาคารและกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการ เอทีเอ็ม แคช เอาท์
เครบ ระบุว่า เครือข่ายอาชญากรเหล่านี้ร่วมมือกันก่อเหตุในหลายประเทศ และคาดว่าตู้เอทีเอ็มทั่วโลกอาจตกเป็นเป้าโจมตี โดยวิธีการที่ใช้จะมีทั้งการเจาะระบบฐานข้อมูลเพื่อขโมยประวัติและรายละเอียดต่างๆ ของเจ้าของบัญชี ซึ่งจะนำไปสู่การรีเซ็ตระบบบัญชี ทำให้ผู้ก่อเหตุสามารถขยายวงเงินในการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม รวมถึงปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มเพื่อใช้ถอนเงินจากตู้ และถ้าดูจากประวัติการก่อเหตุที่ผ่านมาๆ พบว่าเครือข่ายอาชญากรเหล่านี้มักจะลงมือในช่วงวันหยุดยาว เพราะตู้เอทีเอ็มตามธนาคารต่างๆ จะไม่มีคนพลุกพล่านมากนัก
ด้านเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นมันนี่ ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังเอฟบีไอ ได้รับคำตอบว่าเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ได้ส่งเอกสารเตือนไปยังสถาบันการเงินการธนาคารให้ระวังกลุ่มแฮกเกอร์โจมตีตู้เอทีเอ็มจริงๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมแนะนำให้ธนาคารต่างๆ ตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตัวเองอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 เคยมีการก่อเหตุเช่นนี้มาแล้วในสหรัฐฯและหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เงินสดถูกขโมยไปกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 33 ล้านบาท) ขณะที่เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์ รายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์โจมตีระบบตู้เอทีเอ็มและฐานข้อมูลธนาคารเพื่อขโมยเงินสดครั้งล่าสุด เกิดขึ้นกับธนาคารในเมืองแบล็กเบิร์กส์ของสหรัฐฯ ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารสูญเงินรวมกว่า 2.4 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 79.2 ล้านบาท)
ส่วนกรณีของประเทศไทย เคยเกิดเหตุเจาะระบบตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ทำให้เงินสดกว่า 12 ล้านบาทถูกขโมยไป และผลการสอบสวนพบว่ากลุ่มแฮกเกอร์ปล่อยไวรัสมัลแวร์ใส่ระบบเอทีเอ็มและเครือข่ายปฏิบัติการออนไลน์ ทำให้มีตู้เอทีเอ็มถูกโจมตีรวม 21 ตู้ อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ธนาคารออมสินได้ปรับระบบโปรแกรม เพื่อป้องกันการสกิมมิ่ง (ปลอมแปลงรหัสเอทีเอ็ม) ป้องกันการแฮกด้วยวิธีเดิมๆ แต่ก็ยังต้องค่อยระมัดระวังการแฮกแบบใหม่ๆ