วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการธนาคาร ในเดือน ธ.ค. จะมีการเสนอให้มีการตั้งสำรองส่วนเกิน เพื่อรองรับหนี้เสียในปี 2563 จำนวน 12,400 ล้านบาท จากต้นปีที่มีการตั้งสำรองไปแล้ว 4,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะมีการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ยืนยันว่า จะไม่กระทบกับความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ซึ่งปี 2563 คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการพักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 โดยธนาคารมีลูกค้า 2.1 ล้านล้านบาท เข้ามาตรการพักหนี้ 1.1 ล้านล้านบาท จะต้องมีการจัดกลุ่มลูกหนี้ เป็น 3 กลุ่มหลัก
ทั้งนี้ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเร่งเข้าพบลูกค้าเพื่อจัดชั้นลูกหนี้ ให้เลือกแผนการชำระหนี้ในปี 2564 ตามศักยภาพการชำระ โดยยื่นคำร้องผ่าน แอปพลิเคชัน MyMo ได้เอง และทยอยปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2564 ซึ่งบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่พักหนี้อัตโนมัติ และกลับมาชำระหนี้ไม่ไหว กลุ่มข้าราชการ สวัสดิการ ที่ตัดบัญชีจ่ายหนี้ทันที ซึ่งปัจจุบัน เป็นการพักหนี้ครู 4 แสนล้านบาท สินเชื่อที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาท เอสเอ็มอี 6 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจากมาตรการรัฐในส่วนอื่นๆ
ขณะที่ล่าสุดธนาคารออมสินได้เริ่มนำร่องโครงการสมุยโมเดล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ผ่านมาตรการการปล่อยสินเชื่อ และมาตรการพักชำระหนี้ ให้กับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายย่อย หรือ เอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันสมุยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่า 90% โดยเบื้องต้นได้มีการจัดเตรียมวงเงินสิน เชื่อรวมกว่า 2,000 ล้านบาท
โดยแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น ให้สินเชื่อใหม่เฉลี่ยราย 2-5 ล้านบาท สูงสุด 300 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการการพักชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 หรือเริ่มต้นชำระในช่วงเดือน ม.ค. 2565 และชำระดอกเบี้ยเพียง 50% โดยที่เหลือเป็นการจ่ายโดยเวาเชอร์ท่องเที่ยวแทน ซึ่งธนาคารจะนำไปต่อยอดโครงการชวนเที่ยวสมุยในเฟสต่อไป เพื่อกระตุ้นให้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่สมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดนขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินในการเข้าร่วมโครงการชวนเที่ยวสมุยด้วย
นอกจากนี้สมุยโมเดล ยังได้มีการนำสินเชื่อสำหรับรายย่อยวงเงิน 10,000 บาท สูงสุด 50,000 บาทต่อราย ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ยื่นความจำนงค์ขอใช้เงินกู้ฉุกเฉิน โดยจะมีการพิจารณาไม่เกิน 1 วัน หรือยื่นวันนี้รับเงินได้ภายในเที่ยงของวันรุ่งขึ้นได้ ซึ่งพบว่ามีการประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า หากความต้องการสินเชื่อสูงกว่าที่ธนาคารจัดเตรียมไว้ 2,000 ล้านบาท สามารถขยายวงเงินเพิ่มได้แบบไม่จำกัด ซึ่งขณะนี้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท