ไม่พบผลการค้นหา
'ยูทูป' เปิดเผยรายได้ประจำปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยสามารถทำเงินได้ราว 463,000 ล้านบาทใเมื่อปีที่ผ่านมา

เว็บไซต์ The Verge รายงานว่า บริษัทอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ 'ยูทูบ' เปิดเผยรายได้ของยูทูบที่ได้จากค่าโฆษณาประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ออกมาเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังกูเกิลเข้าซื้อยูทูบอย่างเป็นทางการด้วยงบประมาณกว่า 1,650 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 464,000 ล้านบาทเมื่อปี 2006 และยังเป็นการเปิดเผยรายละเอียดทางการเงินครั้งแรกหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของนายซุนดา พิชัย ในฐานะซีอีโอคนใหม่ของอัลฟาเบท จากเดิมที่เคยทำหน้าที่เป็นซีอีโอของบริษัทลูกอย่างกูเกิล  

กูเกิลระบุว่าแพลตฟอร์ม ยูทูบทำเงินไปทั้งสิ้น 15,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 463,000 ล้านบาทในปี 2019 คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของกูเกิลในปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 36.5 เปอร์เซ็นต์

รายได้มหาศาลจากค่าโฆษณาบนยูทูบนี้เทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของรายได้ต่อปีของ 'เฟซบุ๊ก' ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของ 'ทวิตช์' ผู้ให้บริการถ่ายทอดสดเกมบนโลกออนไลน์ของบริษัทแอมะซอน ยูทูบสามารถทำเงินได้สูงกว่าถึง 6 เท่า

สื่อโซเชียล โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ยูทูบ

นอกจากนั้น กูเกิลยังเปิดเผยด้วยว่าปัจจุบันยูทูบมีลูกค้าที่เป็นสมาชิกรายเดือนแบบ 'พรีเมียม' และ 'มิวสิคพรีเมียม' รวมกันมากถึง 20 ล้านบัญชี และยังมีสมาชิกที่จ่ายเงินเพื่อใช้บริการดูทีวีรายเดือนอีกอย่างน้อย 2 ล้านบัญชี ซึ่งอัลฟาเบ็ทชี้ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆมีการรวมบริการเพื่อขายเป็นชุด หรือแบบ 'บันเดิล' โดยเป็นการขายบริการสตรีมมิงควบคู่ไปกับฮาร์ดแวร์อย่างสมาร์ตโฟน 'พิกเซล' และลำโพงอัจฉริยะ 'กูเกิลโฮม' ซึ่งสร้างเม็ดเงินรวมกันทั้งสิ้น 5,300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 163,800 ล้านบาทเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปี 2019

The Verge มองว่า การเปิดเผยรายได้ของยูทูบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมกับรายได้ของบริการ 'กูเกิลคลาวด์' ที่สร้างเงินได้ราว 2,600 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ผ่านมา น่าจะมีสาเหตุมาจาก ความต้องการในการแสดงให้นักลงทุนมั่นใจว่ารายได้ของอัลฟาเบ็ทไม่ได้เกิดจากบริการหลักอย่าง 'กูเกิลเซิร์ช' เท่านั้น แต่ยังมาจากการให้บริการที่หลากหลายที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลและกระจายความเสี่ยงได้ดี