ไม่พบผลการค้นหา
“เขาก็อยากเรียนต่อมหาลัย แต่ป๊ะ กับมะ คงส่งเขาเรียนไม่ไหว”  นูรฮายาตี มะดีงี ตอบคำถามแทนลูกสาวคนโตที่นั่งเขินหลบคนแปลกหน้าอยู่ด้านหลัง แม้สิ้นประโยคมีรอยยิ้มตามมา แต่เชื่อเถอะว่า นั่นไม่ใช่ยิ้มเปี่ยมสุข มันถูกใช้เพื่อกลบเศร้ามากกว่า

1

“เขาก็อยากเรียนต่อมหาลัย แต่ป๊ะ กับมะ คงส่งเขาเรียนไม่ไหว” 

นูรฮายาตี มะดีงี ตอบคำถามแทนลูกสาวคนโตที่นั่งเขินหลบคนแปลกหน้าอยู่ด้านหลัง แม้สิ้นประโยคมีรอยยิ้มตามมา แต่เชื่อเถอะว่า นั่นไม่ใช่ยิ้มเปี่ยมสุข มันถูกใช้เพื่อกลบเศร้ามากกว่า

วงคุยหลังละหมาด ช่วงพระอาทิตย์ตก สมาชิกครอบครัวพร้อมหน้า มะลีเป็ง อาแว ‘แบเปง’ ล่องเรือกลับมาจากอ่าวปัตตานีได้พักใหญ่ พรุ่งนี้จะได้ปลาติดอวนคุ้มค่าน้ำมัน 3 ลิตรไหม เป็นเรื่องของโชคชะตา 

นอกจากหน้าที่หาปลาซึ่งเป็นอาชีพจุนเจือครอบครัวแล้ว แบเปงยังรับหน้าที่เป็นพ่อบ้านคอยดูแลลูก 3 คน เขาจัดการหุงข้าว ทำอาหารสำหรับเด็กๆ ทั้งมื้อเช้าก่อนออกไปเก็บอวน และมื้อเย็นหลังวางอวนเสร็จ

ภาพประกอบงานโลกรวน รัฐร้าย ประมง.jpg
  • มะลีเป็ง อาแว ‘แบเปง’ กำลังเก็บอวนหาปลาในช่วงเช้าวันหนึ่งของเดือนกันยายน

นั่นก็เพราะ นูรฮายาตี ภรรยาของแบเปง ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปทำงานในโรงงานย่านชานเมืองปัตตานี กว่าจะเลิกงานถึงบ้านก็ราวหกโมงเย็น และจำเป็นต้องกลับช้ากว่านั้นหากวันไหนมีโอที ค่าแรงที่ได้ตกวันละ 340 บาท ส่วนวันที่ได้โอทีอาจจะได้เพิ่มถึง 400 บาท น้ำพักน้ำแรงส่วนนี้คือ เงินที่เข้ามาเสริมรายได้จากการหาปลาที่ลดหายไปจนน่าตกใจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แบเปง แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ฟังว่า ในหนึ่งวันสำหรับครอบครัวเขา 5 ชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้เงินขั้นต่ำวันละประมาณ 400 บาท คือเงินที่ต้องให้ลูก 3 คนไปโรงเรียน ค่าน้ำมันสำหรับรถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ทั้งของภรรยา และลูกสาวคนโตที่ต้องใช้ขับเข้าไปเรียนในตัวเมือง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากวันไหนเขาออกเรือแล้วได้ปลาน้อย ก็เท่ากับว่า รายได้จะน้อยกว่ารายจ่ายทันที

“มีบางวันไม่ได้ปลาเลย ต้องยืมเงินเพื่อนบ้านเอาให้ลูกไปโรงเรียนก่อน” แบเปง พูดเป็นภาษายาวี ด้วยสีหน้านิ่งเรียบ 

เด็กสามคนของบ้านกำลังอยู่ในวัยเรียน ลูกสาวคนโต นารมา อาแว เรียนอยู่ชั้น ม.5 ที่โรงเรียนในเมือง ทุกวันเธอจะขับมอเตอร์ไซค์ออกไปเรียนตอนเช้า และกลับมาถึงบ้านในเวลาใกล้เคียงกับแม่ แบเปง เล่าว่า ช่วงใกล้จบ ม. 3 เคยคุยกับลูกว่า อยากจะเรียนต่อหรือจะเข้าไปหางานทำที่มาเลเซีย คำตอบคือเขาอยากเรียนต่อ คนเป็นพ่อจึงต้องพยายามสุดกำลังเพื่อที่จะส่งลูกเรียนต่อไปให้ได้ แต่เขายอมรับตรงไปตรงมาว่าหลังจากจบ ม. 6 คงไม่มีเงินพอส่งเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอเล่าว่าความฝันของเธอ คือการได้เรียนคณะรัฐศาสตร์ เพราะชอบการเมือง และชอบเรียนวิชาสังคม มากกว่าวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 2
  • อับดุลรอมัน อาแว ลูกชายคนเล็กของแบเปง อุ้มแมวส้มออกมาเล่นหน้าบ้าน ขณะรอพี่ชายแต่งตัวก่อนเดินเท้าไปโรงเรียนด้วยกัน

ส่วนมะอารีฟี อาแว ลูกชายคนกลาง  และอับดุลรอมัน อาแว ลูกชายคนเล็ก เรียนอยู่ ม.2 และ ป.5 ทุกเช้าทั้งคู่จะเดินจากบ้านไปโรงเรียนบ้านบูดี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที พวกเขาได้เงินสำหรับซื้อขนมวันละ 20 บาท ส่วนข้าวกลางวันโรงเรียนทำให้ฟรี 

คนเป็นพ่อพูดด้วยความภูมิใจว่า เงินที่ให้ มะอารีฟี ไปเขาจะใช้แค่วันละ 10 บาท ส่วนที่เหลือจะเอาไปฝากไว้กับธนาคารโรงเรียนทุกวัน ช่วงปิดเทอมเขาเคยไปขอทำงานที่ร้านรับซื้อของเก่าในหมู่บ้าน ได้ช่วยหยิบจับ ยกของเล็กๆ น้อยๆ ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท แบเปงเคยขอว่า ไม่ต้องไปทำงานได้ไหม เห็นว่า เป็นเด็กก็ควรใช้เวลาไปเล่นกับเพื่อนมากกว่า มะอารีฟี เข้าใจคำขอ แต่ก็ยังเห็นว่า การทำงานแล้วได้เงินก็เป็นเรื่องที่สนุกไม่แพ้กัน และเงินที่ได้มาเขาก็สามารถเอาไปซื้อของที่อยากได้ โดยไม่ต้องรบกวนครอบครัว 

เมื่อหันกลับมามองลูกชายคนเล็ก แบเปงยิ้มมุมปาก ก่อนจะบอกว่า คนนี้ให้เงินไป 20 บาทไม่ค่อยพอใช้เพราะชอบกินขนม บางวันก็ไปขอแบ่งมาจากพี่ชาย 

สำหรับมะอารีฟี เขาใกล้เรียนจบ ม.ต้นแล้ว ทางเลือกสำหรับเขามีไม่มาก ถ้าไม่จำเป็นต้องออกไปเป็นพนักงานเสริฟที่มาเลเซีย หรือเข้ามาเป็น รปภ.ในกรุงเทพฯ  สิ่งที่เขาต้องการคือ เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี 

แบเปงเล่าว่า ลูกคนนี้ชอบแกะ ชอบรื้อ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่พังแล้ว คงเป็นเพราะเห็นพ่อซ่อมเครื่องยนต์เรืออยู่บ่อยๆ ส่วนคนเล็กอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทุกวันนี้ขอแค่มีเงินกินขนม และได้ออกไปเล่นกับเพื่อนทุกวันก็พอใจแล้ว

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 3
  • เด็กๆ ในโรงเรียนบ้านบูดี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กำลังต่อแถวเป็นระเบียบเดินเข้าชั้นเรียนหลังจากทำกิจกรรมหน้าเสาธงเสร็จ

อนาคต และความฝันของเด็ก 3 คน คงไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง ถ้าพ่อของพวกเขายังหาปลาได้วันละไม่ต่ำกว่า  500 บาท เหมือน 5-6 ปีก่อน หรือได้ 1,000 บาทต่อวัน เหมือนครั้งอ่าวปัตตานียังมีชีวิต แน่นอนอนาคตของเด็กๆ ในชุมชนนี้อีกหลายร้อยชีวิตก็ไม่แตกต่างกัน

ขณะที่จำนวนชีวิตที่รายล้อมอยู่รอบอ่าวปัตตานีมีมากถึง 5 หมื่นชีวิต และก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง คำถามสำคัญคือ อ่าวปัตตานี ตายเพราะอะไร

2

“เมื่อก่อนตีสี่ก็ต้องตื่นกันหมดแล้ว ตอนเด็กๆ อยากจะนอนต่อก็นอนไม่ได้ มันได้ยินแต่เสียงเรือออกไปหาปลา วันหนึ่งน่าจะเป็นร้อยลำ กว่าเสียงเรือจะเงียบก็ประมาณ 10 โมง ช่วงที่ชาวบ้านเอาปลามาขาย แต่เดี๋ยวนี้วันหนึ่งออกกันแค่ 5 - 6 ลำ บางคนก็ไม่ได้ออกไปหาปลาทุกวัน เพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน”

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 4
  • จำนวนปลบางส่วนที่ แบเปง หาได้ เขาคาดว่าเมื่อนำไปขายจะได้เงินประมาณ 300 บาท แต่นั่นก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับ 5 ชีวิตในครอบครัว

อัลอามีน มะแต ลูกหลานชาวประมงในอ่าวปัตตานี เปรียบเทียบให้เห็นภาพใหญ่ของอ่าวปัตตานี ระหว่างอดีต และปัจจุบัน 

เขาเกิดและเติบโตที่บ้านมูดี  และตอนนี้เขาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และประธานเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้าน แน่นอนว่าเรื่องของบ้านเกิดเขาย่อมรับรู้ เข้าใจเป็นอย่างดี 

อัลอามีน เล่าถึงสภาพปัญหาของอ่าวปัตานี ว่า โดยปกติแล้วพื้นที่อ่าวปัตตานีจะได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด คำบอกเล่าจากคนเก่าคนแก่ เป็นประจักษ์พยานสำคัญว่าทุกวันนี้แหลมทรายที่ปากอ่าวมีความยาวออกไปในทะเลเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าเทียบกับอดีตหลายทศวรรษ กับช่วงเวลาปัจจุบันจะเห็นชัดว่าแหลมทรายงอกเพิ่มออกไปไกลกว่าเดิม 

ด้วยสภาพที่ปากอ่าวแคบลงทุกปี  ประกอบกับกระแสการไหลเวียนของน้ำ สถานการณ์นี้ส่งผลต่อตะกอนภายในพื้นที่อ่าว ทำให้เกิดปัญหาความตื้นเขิน ประเด็นนี้ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตานี ช่วยฉายภาพให้เห็นว่า ความตายของอ่าวปัตตานี เกิดจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ 

โดยปกติแล้วอ่าวปัตตานีจะมีความตื้นเพิ่มขึ้นทุกปี เพียงแต่ไม่ได้เห็นเด่นชัดอย่างมีนัยสำคัญ ปรากฏการณ์นี้สืบเนื่องจากพื้นที่อ่าวมีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำสองสายที่ไหลลงมาสู่อ่าว คือ แม่น้ำปัตตานี และคลองยะหริ่ง หรือคลองยามู เมื่ออยู่ในช่วงกระแสน้ำลง ตะกอนดินทรายจากแม่น้ำจะถูกพัดพามาที่อ่าวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้อ่าวปัตตานีมีชีวิตที่สั้นลง ซุกรี ชี้ว่า ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากฝีมือของมนุษย์นับตั้งแต่ช่วงปี 2538 ที่มีการสร้างสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี ซึ่งมีการถมพื้นที่ทะเลเดิมทำให้ปากอ่าวมีความแคบลง และเมื่อสภาพปากอ่าวแคบลงก็ส่งผลให้การไหลเวียนของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตะกอนดินที่เดิมจะถูกพัดออกไปไกล ถูกปิดกั้นเส้นทางเดิม จนทำให้เกิดการตกตะกอนภายในอ่าวเพิ่มมากขึ้น 

แต่โครงการที่สร้างปัญหามากที่สุดคือการขุดลอกร่องน้ำในอ่าวปัตตานี ซึ่งใช้งบประมาณรัฐทั้งหมด 664,994,414 บาท โดยกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอบต. เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงเวลานั้น เป็นประธาน ได้เห็นชอบอนุมัติงบกลางปีงบประมาณ 2560 ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการระยะเวลา 2 ปี (2560-2562)

แม้จะเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าว แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้ปัญหาดังกล่าวหนักเพิ่มขึ้นไปอีก 

จากข้อมูลขอบเขตการทำงาน (TOR) กำหนดว่า ทรายที่ได้จาการขุดลอกจำนวนประมาณ 13 ล้านคิว จำนวน 9 คิวจะต้องนำออกไปทิ้งในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่ง 9 กิโลเมตร ส่วนอีก 3 ล้านคิว ต้องเอาไปทิ้งริมชายฝั่งและเสริมชายหาด ทว่าในความเป็นจริงแล้วทรายจำนวนมหาศาลถูกทิ้งอยู่กลางอ่าวปัตตานี จนเกิดเป็นสันดอนทรายขึ้นกลางอ่าวหลายจุด 

ซุกรี ชี้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำ และระบบนิเวศภายในอ่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง 

ด้วยสภาพปากอ่าวที่แคบลง ทำให้กระแสน้ำขึ้นที่จะพัดพาสัตว์ทะเลขนาดใหญ่เข้ามา ถูกกั้นเส้นทาง ทำให้เข้าสัตว์ทะลเข้ามาได้น้อยลง และกระแสน้ำเค็มที่เข้ามาก็น้อยลงไปด้วย ประกอบกับความตื้นเขินของอ่าวเองก็ทำให้ระบบนิเวศอันเป็นที่อยู่อาศัยแต่เดิมของสัตว์ทะเลวัยอนุบาลเปลี่ยนแปลงไป แม้จะยังคงมีสัตว์เล็กอยู่บ้าง แต่สัตว์เหล่านี้หากไม่โดนจับด้วยอุปกรณ์ประมงที่ผิดกฎหมาย ก็จะว่ายลงสู่ทะเลเมื่อเริ่มโตขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศภายในอ่าวไม่มีอาหารเพียงพอต่อการเติบโต ขณะที่ปลาใหญ่จากทะเลก็เข้ามาที่อ่าวน้อยลงเนื่องจากความตื้นเขิน ทั้งหมดนี้ทำให้จำนวนปลาที่ชาวประมงหาได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

ข้อมูลตัวเลขที่ซุกรี เคยสำรวจไว้พบว่า รายได้ของชาวประมงในพื้นที่รอบอ่าวเมื่อ 13 ปี ก่อนมีรายได้รวมกันราว 100 กว่าล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันพบว่ามีรายได้รวมกันประมาณ 20 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่ารายได้ของชาวประมงรอบอ่าวปัตตานีในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานี้ หายไปราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 5
  • 276 คือจำนวนเงินที่ แบเปง ได้จากหาปลาในวันนั้น นับได้ว่าเขาได้ปลามากเป็นพิเศษจากทุกวัน เพราะวันก่อนหน้านี้เขาได้เงินจากการขายปลาเพียง 85 บาทเท่านั้น แน่นอนว่าวันนั้นรายได้ของเขาติดลบ

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจแต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจศึกษาอย่างจริงจัง คือ ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซุกรี ชี้ว่า ประเด็นนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับความตายของอ่าวปัตตานีอยู่บ้าง แต่การศึกษานั้นจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนแทบจะไม่รู้สึกตัว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลจนไม่สามารถกู้ระบบนิเวศกลับคืนมาได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สังเกตเห็นในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความเค็มของน้ำในอ่าวอย่างชัดเจน และเมื่อน้ำเค็มกลายเป็นน้ำกร่อยก็ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อจำนวนของสัตว์ทะเลที่ลดลงด้วย 

ขณะที่อัลอามีน เชื่อว่า ภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และสภาพภูมิประเทศของอ่าวปัตตานีนั้นส่งผลต่อปริมาณของปลาที่ลดลงเป็นทุนเดิม แต่การเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของภาครัฐนั้นกลับกลายเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเสียยิ่งกว่า ‘ภาวะโลกรวน’ กลายเป็นการเปลี่ยนจากความตายแบบผ่อนส่ง แต่ยังเหลือความหวังในการต่อลมหายใจ ไปสู่ความตายที่เฉียบพลัน ที่ไร้ความหวังจะกู้ชีพกลับคืนมา

สำหรับซุกรี มองว่า การจะกู้ชีวิตอ่าวปัตตานีให้กลับคืนมาเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้งบประในการขุดรอกล่องน้ำ และสันดอนทรายที่ผุดขึ้นกลางอ่าวออก คาดว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณอีกกว่าพันล้านบาท แต่ผลที่ได้อาจจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากสภาพของอ่าวในปัจจุบันมีความตื้นเขินเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 เซนติเมตร และจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าความลึกของอ่าวอยู่ที่  70 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร เท่านั้น 

“หมายความว่า ภายในเวลาไม่เกิน 30 ปี เราอาจจะไม่ได้เห็นใครออกเรือไปหาปลาในอ่าวอีกแล้ว หรือหากจะมีใครที่ยังจะทำอาชีพประมงอยู่ก็จำเป็นต้องออกไปหาปลาในทะเลที่ไกลออกไป แต่นั่นก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในหลายด้านมากขึ้นไปอีก ทั้งการเตรียมพร้อมเรือ อุปกรณ์ และต้นทุนค่าน้ำมัน ซึ่งอาจจะไม่คุ้ม เพราะในทะเลเองก็มีเรือพานิชย์หาปลาอยู่ทุกวัน”

เขาเสนอว่า สิ่งที่รัฐควรจะเริ่มทำตั้งแต่เวลานี้คือการ ส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนรอบอ่าว ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้อ่าวปัตตานีกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว ในส่วนของเด็กๆ ลูกหลานชาวประมง รัฐจำเป็นต่อเข้าไปส่งเสริม ชี้แนวทางการประกอบอาชีพอื่นๆ ให้กับพวกเขา 

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 6
  • “ถ้าไม่ออกไปหาปลา มันก็ไม่มีอาชีพอะไรที่ทำได้ อายุมากแล้ว ความรู้ไม่มี ทุกวันนี้ก็ต้องออกเรือไปหาปลาทุกวัน หวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ขอส่งลูกเรียนจนสุดกำลัง” แบเปง เล่าถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ แม้จำนวนปลาจะลดลงไป แต่เขายังต้องออกเรือทุกวันเพื่อที่หาเงินให้ลูกได้เรียนต่อ 

ข้อมูลจากรายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย บ่งชี้ความเชื่อมโยงของปัญหาผลกระทบกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมของสิ่งแวดล้อม กับตัวเลขความยากจนหลายมิติของเด็ก โดยพบว่ายิ่งตัวเลขความยากจนหลายมิติของเด็กสูง ก็จะทำให้ได้รับความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งในด้านการเข้าถึงการศึกษา สภาพที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต พัฒนาการด้านต่างๆ

ขณะที่ข้อมูลความยากจนในหลายมิติ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี 2562 พบว่า จังหวัดปัตานีเป็นจังหวัดที่มีความยากจนหลายมิติสูงเป็นอันดับที่ 5 และเป็นอันดับที่ 5 ของจังหวัดที่มีคนยากจนมากที่สุดด้วย 

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งทำการสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่า ในจังหวัดปัตตานี มีจำนวนนักเรียนในระบบอยู่ 70,285 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มนักเรียนที่มีความยากจน(นักเรียนจากครัวเรือนที่ครอบครัว มีรายได้เฉลี่ย 1,332 บาท/คน/เดือน หรือคิดเป็นวันละ 44 บาท) และยากจนพิเศษ (นักเรียนจากครัวเรือนที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 3,000 บาท/คน/เดือน) 37,793 คน คิดเป็น 53.77 % 

ขณะที่ในปีต่อมา ภาคการศึกษาที่ 1/2564 พบการสำรวจของ กสศ. พบว่า ปัตตานีกลายเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มนักเรียนที่มีความยากจน และยากจนพิเศษเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คิดเป็น 65.65 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในจังหวัด และภาพรวมการหลุดออกจากระบบการศึกษาของไทยพบว่ามีความเสี่ยงสูงในช่วงระหว่างมัธยมศึกษาตอนต้น กับมัธยมศึกษาตอนปลาย แน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้เด้กหลุดออกจากระบบการศึกษามีหลายปัจจัย แต่เหตุที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญคือ รายได้ของครอบครัว 

ด้านผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีแบบเจาะลึกระดับจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่าแม้การพัฒนาเด็กในภาพรวมของทั้งประเทศจะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่เด็กในภาคใต้จำนวนมากยังคงขาดแคลนและเข้าไม่ถึงการพัฒนาในอีกหลายมิติ เช่น ขาดโภชนาการที่เหมาะสม ขาดภูมิคุ้มกันโรค ไม่ได้เข้าเรียน และขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ โดยพบว่า ใน 12 จังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด มี 6 จังหวัดในภาคใต้ติดอันดับอยู่ด้วย ได้แก่ ระนอง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

การสำรวจแบบเจาะลึกยังพบว่า อัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยและทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเด็กในภาคใต้ก็น่าเป็นห่วง โดยมีเด็กอายุ 3-4 ปีในจังหวัดยะลาเพียงร้อยละ 57 เท่านั้นที่เข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 75 ในขณะที่อัตรานี้ในจังหวัดระนองและนราธิวาสก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 61 และ 65 ตามลำดับ

นอกจากนี้ แม้เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทุกคนได้เข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษา แต่เด็กจำนวนมากกลับยังคงขาดทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น  โดยมีเด็กอายุ 7-8 ปี (อายุเข้าเกณฑ์เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3) ในจังหวัดนราธิวาสเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 47 ทั้งนี้ อัตราของเด็กที่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานในจังหวัดปัตตานีและยะลาก็ต่ำเช่นกัน  โดยอยู่ที่ร้อยละ 17 และ 27 ตามลำดับ

ภาคใต้ยังมีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงที่สุดของประเทศไทย โดยมีเด็กวัยมัธยมศึกษาตอนปลายถึงร้อยละ 21 ในจังหวัดนราธิวาส, ร้อยละ 20 ในจังหวัดปัตตานี และร้อยละ 19 ในจังหวัดระนองที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 7
  • ตกเย็นหลังกลับจากโรงเรียน มะอารีฟี อาแว (เสื้อสีม่วง) ลูกชายคนกลางของแบเปง นัดเพื่อนมาเล่นฟุตบอลที่ลานทรายกว้างข้างบ้าน พวกเขาดัดแปลงมันเป็นสนามฟุตบอลโดยการนำไม้มาปักเป็นเสาประตูทั้งสองฝั่ง 
ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 10
  • นอกจากครอบครัวของแบเปงแล้ว ยังมีเด็กอีกหลายร้อยชีวิตในชุมชนบ้านมูดี และชุมชนใกล้เคียงซึ่งครอบครัวมีอาชีพหลักคือ การทำประมงพื้นบ้าน พวกเขาเหล่านี้กำลังเติบโตมาอย่างสดใส เพื่อเผชิญหน้ากับอนาคตที่ยังไม่รู้ปลายทาง



3

“ถ้าไม่ออกไปหาปลา มันก็ไม่มีอาชีพอะไรที่ทำได้ อายุมากแล้ว ความรู้ไม่มี ทุกวันนี้ก็ต้องออกเรือไปหาปลาทุกวัน หวังว่าจะมีอะไรดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ขอส่งลูกเรียนจนสุดกำลัง” 

นั่นคือคำตอบของแบเปง หลังจากถามว่าเคยคิดที่จะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นๆ บ้างไหม เขาพูดขณะขับเรือออกไปเก็บอวนที่วางไว้ในอ่าว พระอาทิตย์กำลังขึ้น มีเรือลำเล็กอีก 2-3 ลำแล่นอยู่อยู่กลางอ่าวเหมือนกัน 

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 12
  • เมื่อเดินทางถึงจุดหมายเขาเงยหน้ามองฟ้า แบมือสองข้างตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าใบหน้าเล็กน้อย ผู้ช่วยที่เป็นล่ามภาษายาวี บอกว่า นั่นคือการ ‘ดุอาห์’ หรือการขอพรจากพระเจ้า “โปรดช่วยพวกเราด้วย ตอนนี้ทุกคนลำบากกันหมดแล้ว”

กว่าชั่วโมงสำหรับการดึงอวนที่วางไว้ แบเปง บอกว่าพระเจ้าคงได้ยินคำขอของเขา เพราะนอกจากปลาจำนวนเล็กน้อยที่ติดอวนมา ยังมีปูอีกสองตัวติดมาด้วย เขาคาดว่าวันนี้คงขายได้ประมาณ 300 บาท แม้จะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่ก็ดีกว่าออกมาแล้วไม่คุ้มค่าน้ำมัน 

หลังจากขึ้นฝั่งเขาเดินกลับไปบ้าน เพื่อเอาเงินให้ลูกชายสองคนที่ต้องเดินไปโรงเรียน แต่บางวันเขาจะวางเงินไว้บนหลังตู้ 40 บาท ให้สองพี่น้องแบ่งกันคนละครึ่ง ส่วนภรรยา กับลูกสาวคนโตออกจากบ้านไปตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว จากนั้นเขาจะเดินทางที่ท่าจอดเรือในหมู่บ้านเพื่อแกะปลาออกจากอวน ก่อนจะนำไปขายให้แม่ค้ารับซื้อปลาที่จะนำปลาออกไปขายต่อที่ตลาดปลาในเมือง

276 คือจำนวนเงินที่แบเปงได้มาในวันนั้น ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย เขาเก็บเงินใส่กระเป๋ากาง และเดินกลับไปที่เรือเพื่อที่จะเตรียมอวนให้พร้อมสำหรับการออกเรือต่อในช่วงบ่ายแก่ๆ ขณะที่ลูกๆ ทั้งสามคนกำลังอยู่ในห้องเรียน และภรรยาอยู่ในโรงงาน

ในช่วงเวลาว่างก่อนออกเรืออีกครั้ง แบเปง เล่าว่า ตัวเขาเองเรียนจบแค่ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อเพราะต้องออกมาหาปลาช่วยพ่อ ทุกวันนี้พ่อของแบเปงอายุ 70 กว่า ยังออกเรือในบางวัน แต่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เขาว่า เบี้ยเลี้ยงคนชราที่รัฐจัดให้ต่อเดือนเพียงพอต่อการยังชีพ แต่ที่ต้องออกเรือเพราะไม่อยากอยู่เฉย กลัวว่าจะเป็นโรคอะไรไปหากร่างกายไม่แข็งแรง 

ทักษะการออกเรือ แบเปงได้รับถ่ายทอดโดยตรงจากพ่อ แต่เขาไม่คิดที่จะส่งต่อวิชาชีพนี้ให้กับลูก เขาไม่ต้องการให้ลูกมาลำบากเหมือนกับเขา 

อนาคตของเด็กสามคน จะเป็นอย่างไร เขาไม่มีคำตอบที่แน่ชัดสำหรับเรื่องนี้ เขารู้เพียงแค่หากลูกอยากเรียนเขาก็ต้องพยายามออกไปหาปลาทุกวัน ด้วยความหวังว่า หากได้เรียน จะมีงานที่ดีรออยู่ข้างหน้า ลูกคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับเขา ทว่าตอนนี้เขาคือฐานที่ไม่มั่นคงสำหรับเด็กๆ 

สี่โมงเย็นลูกชายสองคนกลับมาถึงบ้าน ต่างคนต่างมีเพื่อนของตัวเอง มะอารีฟี นัดเพื่อนมาเตะฟุตบอล ที่ลานทรายกว้างๆ ซึ่งดัดแปลงเป็นสนามฟุตบอล โดยการนำไม้มาปักไว้เป็นเสาประตูทั้งสองฝั่ง เด็กๆ ในหมู่บ้านมารวมตัวกันกว่า 10 คน พวกเขาวิ่งเตะบอลกันจนฟ้าเกือบมืด ส่วนอับดุลรอมัน ออกไปเล่นกับเพื่อนอีกที่หนึ่ง ฟ้าเริ่มมืดทั้งคู่กลับมาที่บ้าน พี่สาว และแม่ ก็กลับมาถึงบ้านแล้วเช่นกัน 

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 8
  • อีกหนึ่งหน้าที่ของ แบเปง นอกจากจะต้องออกเรือหาปลาทุกวัน และจัดเตรียมอาหารเช้า และเย็นให้ลูกๆ เขายังทำหน้าที่เป็นครู คอยสอนลูกอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เขาจะเป็นคนอ่านนำและให้ลูกชายทั้งสองคนอ่านออกเสียงตาม แบเปง บอกว่า นี่คือการเรียนพิเศษของลูกๆ เขา

ทั้งครอบครัวละหมาดร่วมกัน ก่อนกินอาหารเย็น จากนั้นแบเปงสอนลูกชายทั้งสองคน อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เขาว่าสิ่งที่มักจะเน้นย้ำกับลูกคือ คำสอนที่ว่า ถึงเราจะลำบาก แต่เราต้องมีศรัทธา และความหวังอยู่เสมอ 

4

รถยนต์แล่นออกจากหมู่บ้านมูดี มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานี ระหว่างทางยังไม่ทันพ้นหาดตะโละกาโปร์ ฝนห่าใหญ่ตกลงมาจนมองไม่เห็นเส้นทางที่จะไปต่อ เราจอดรถไว้ข้างทาง รอเวลาให้ฝนหยุด และอดคิดไม่ได้ว่า หากฝนตกหนักต่อไปจนถึงเช้า แบเปงจะยังออกเรือได้อยู่ไหม 

ล่ามที่เดินทางเข้าพื้นที่มาด้วยกัน คลายความสงสัยนี้ เขาโทรกลับไปหาแบเปง คำตอบที่ได้รับ ต่อให้มีฝนหรือไม่มี พรุ่งนี้เขาก็จะออกเรือ

ภาพสกู๊ป โลกรวน รัฐร้าย กับชีวิตไร้ทิศของลูกคนหาปลาในอ่าวปัตตานี 11
  • แบเปง ยังคงออกเรือในทุกวัน เขาออกไปพร้อมกับความหวังว่า ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น เรือลำเล็กมุ่งหน้าสู่จุดวางอวนดักปลากลางอ่าว ความคาดหวังขั้นต่ำที่สุดคือ เมื่อนำปลาที่ได้มาไปขาย และหักลบกับค่าน้ำมัน เขาจะไม่ขาดทุน 

ราวครึ่งชั่วโมง ฝนก็ซาลง เส้นทางข้างหน้าเริ่มแจ่มชัด รถยนต์กำลังมุ่งหน้าสู่จุดหมาย 

แต่กับชีวิตของเด็กๆ ลูกหลานชาวประมง พวกเขาจะได้เดินไปในทิศที่ต้องการหรือไม่ ยังยากที่จะให้คำตอบ 


เรื่อง ทวีศักดิ์ เกิดโภคา / VoiceTV

ภาพ ชนากานต์ เหล่าสารคาม / Thai News Pix


ข้อมูลอ้างอิง

https://waymagazine.org/pattani-bay/

https://thevisual.thaipbs.or.th/drop-out-students/main/

https://www.greenpeace.org/thailand/story/19819/ocean-man-made-sandbar-that-impacts-both-underwater-and-human-lives-of-pattani-bay/

https://www.unicef.org/thailand/th/reports/impact-assessment-climate-change-and-environmental-degradation-children-thailand

https://www.unicef.org/thailand/media/11851/file/MICS%202022%20Thailand%2012%20selected%20provinces%20TH.pdf