ไม่พบผลการค้นหา
กทม. ขยับทันที!! รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.ตั้งโต๊ะถกปัญหา 'ยาอีลาบูบู้' หลังพบผู้ป่วยวิกฤต-เสียชีวิตจากการใช้สารเสพติดแฝง พบสาร MDMA หรือ ยาอี (Ecstasy) คีตามีน (Ketamine) และกาเฟอีน ผสมกัน

วันนี้ (21 เมษายน 2568) รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2568 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และระบบการประชุมทางไกล (ออนไลน์) โดย นพ. สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานค ผู้แทนหน่วยงานภายนอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานในด้านต่าง ๆ ในระยะ 1 เดือน รวมถึงหารือแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ 

ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้ที่ประชุมรับทราบ รวมถึงมีการรายงานสถานการณ์ของยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะยาเสพติดชนิดยาอีที่แฝงมาในรูปของตุ๊กตา “ลาบูบู้” หรือยาอีลาบูบู้ ที่ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย 3 ราย เข้ารักษาตัว หลังไปร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วหมดสติ กล้ามเนื้อเกร็ง หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับการใช้สารเสพติดที่เรียกกันในกลุ่มผู้ใช้ว่า “ขนม” หรือ “ลาบูบู้” ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อีก 1 ราย อาการสาหัสและยังรักษาตัวในห้องไอซียู จึงจะต้องเร่งหาแนวทางป้องกันควบคู่ไปกับยาเสพติดชนิดอื่นเพราะจากรูปลักษณ์ที่เป็นเหมือนตุ๊กตาลาบูบู้อาจทำให้มีแนวโน้มที่จะระบาดได้ง่าย

จากการตรวจพิสูจน์ของ สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. มีการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดชนิด "ยาอี" ที่มีลักษณะคล้ายตัวการ์ตูน "ลาบูบู้" ที่ได้รับรายงานจากศูนย์พิษวิทยาฯ พบสาร MDMA หรือ ยาอี (Ecstasy) คีตามีน (Ketamine) และกาเฟอีน ซึ่งข้อสังเกต ยาอี “ลาบูบู้” จัดเป็นยาอีที่มีสารออกฤทธิ์หลัก MDMA ในปริมาณความเข้มข้นสูง และผสมกับสารออกฤทธิ์คีตามีน และมีกาเฟอีน เป็นส่วนผสมด้วย จึงเพิ่มการออกฤทธิ์ และทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น (ยาอี โดยทั่วไป พบ MDMA เพียงร้อยละ 40-50)