ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่ม We’re all voters เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อผ่านเว็บ Chang.org ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เพื่อกระจายอำนาจ และทรัพยากร เสริมส่งคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนต่างจังหวัด

'กลุ่ม We’re all voters : เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง' ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสื่อมวลชนทั้งอิสระและจากหลากหลายสังกัด ตลอดจนภาคประชาสังคมต่างๆ ในห้วงเวลาที่การแข่งขันเสนอนโยบายในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.และเมืองพัทยากำลังเข้มข้น จากการมองเห็นผู้สมัครต่างพากันนำเสนอนำโยบายต่างๆ แต่ประชาชานส่วนใหญ่ในประเทศกับไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดของตนเองได้ จึงทำให้ทางกลุ่มนำเสนอประเด็นดังกล่าวบนหลักการและแนวทาง 3 ประการด้วยกันคือ

1.การรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อในแคมเปญ Change.org/WeAllVoters เพื่อส่งเสียงไปยังทุกพรรคการเมือง เรียกร้องให้พรรคต่างๆ บรรจุเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคที่จะปฏิบัติหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า 

2.การผลักดันให้เกิดการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้

3.การเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ในสังคมไทยบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง'

ทางกลุ่มระบุด้วยว่า เชื่อว่าประชาชนพร้อมเสียภาษี ถ้ารู้ว่าเงินที่จ่ายไปได้ทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นของตน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทั่วประเทศ จะทำให้การกระจายทรัพยากรทั่วถึง ไม่เทงบประมาณมาที่เมืองหลวงมากเกินไป เกิดการแข่งขันเสนอนโยบายอย่างเหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ และทำให้ประชาชนทุกจังหวัดมี 'คุณภาพชีวิต' ที่ดี โดยไม่ต้องมาแสวงหาคุณภาพชีวิตเช่นนั้นในกรุงเทพฯ เท่านั้น

นอกจากนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ยังจะทำให้เราได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้คนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ที่ทำงานได้ดีถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้ และประชาชนยังสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นเพื่อป้องกันการทุจริตได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตัั้ง

สำหรับข้อกังขาว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศจะกระทบระบอบกษัตริย์และทำให้เกิดรัฐอิสระ ในความเป็นจริงผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจด้านการทหาร การต่างประเทศ และการจัดเก็บภาษีนอกเหนือกฎหมายกำหนด ดังตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งระบอบกษัตริย์และประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 (รวมถึงนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศ) ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยับเยิน แต่กลับ 'เจริญก้าวหน้า' อย่างรวดเร็ว นั่นเพราะหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คือการกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม