ไม่พบผลการค้นหา
9 ส.ค.นี้ เปิดหวูด BTS 1 สถานีถึง 5 แยกลาดพร้าว ให้ปชช.ขึ้นฟรี ด้านรฟม.ย้ำอีก 5 สถานีต่อเนื่องถึง ม.เกษตรฯ ได้ใช้แน่ภายสิ้นปี 2562 นี้ จับตาแนวทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือแค่ขายฝัน?

วันที่ 9 ส.ค. 2562 นี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการอย่างเป็นทางการจำนวน 1 สถานี ระหว่างสถานีหมอชิต-สถานี ห้าแยกลาดพร้าว ยกระดับข้ามดอนเมืองโทลเวย์ โดยจะไม่เก็บค่าโดยสารจนจะกว่าเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นโครงการที่ลงทุนโดย รฟม. 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อขยายจากเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิต มีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตรถึงคูคต ลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทางจำนวน 16 สถานี สิ้นสุดที่สถานีคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สามารถเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่

"การทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือผ่านไปได้ด้วยดี การเปิดให้ประชาชนใช้บริการถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้ และภายในปีนี้จะเปิดให้บริการอีก 5 สถานีถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" นายสุรเชษฐ์ กล่าว

'อัศวิน' ยืนยัน สายสีเขียวยาว 67 กิโลเมตร ค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท ไม่แพง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากำหนดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว จากสถานีเคหะสมุทรปราการ-คูคต ระยะทางยาวทั้งสิ้น 67 กิโลเมตร 48 สถานี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันค่าโดยสาร BTS ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ราคาสูงสุด 44 บาท บวกส่วนต่อขยายอีก 15 บาท รวมเป็น 59 บาท และจะจัดเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 6 บาท เมื่อรวมรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ จะทำให้ค่าโดยสารตลอดสายจะสูงสุดอยู่ที่ 65 บาท ซึ่งพล.ต.อ.อัศวิน ยืนยันว่า ไม่แพง คาดว่าการเจรจาแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนลงนามกับ BTS

ค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย ทำได้จริงหรือแค่ขายฝัน?

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แนวทางขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การลดค่าภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าในแต่ละสาย แต่แนวทางจะเป็นอย่างไรได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้แล้ว

"แนวทางปรับลดค่าโดยสารได้มีการนำไปหารือกับนายสมคิด จาตุศรีทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจต่อเนื่อง เชื่อว่ามีแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาษีของประชาชน เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั้งประเทศ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ขณะที่ นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ระบุว่า เอกชนพร้อมดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ส่วนการปรับลดค่าโดยสารให้ถูกลง ภาครัฐจะสนับสนุนค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการจะทำได้อย่างไร ยังต้องมาคุยกัน

"บีทีเอสเห็นด้วย พร้อมที่จะดำเนินการกับนโยบายรัฐทุกอย่างทุกประการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี หากรัฐบาล กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่ชัดเจนออกมาก็พร้อมร่วมมือ ส่วนแนวทางจะปรับค่าโดยสารลงมาเหลือเท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน" นายอาณัติ กล่าว

'สามารถ' เสนอลดราคา 15 บาทตลอดสายเฉพาะสายสีม่วง-เขียวต่อขยายก่อน

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาทตลอดสาย เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับสัมปทาน ทั้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่ต้องสูญเสียรายได้ เฉพาะ BTS มีผู้โดยสารประมาณ 8 แสนคน/วัน มีค่าโดยสารเฉลี่ย 28 บาท/คน หากลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาท รัฐบาลจะต้องชดเชยเงินให้ BTS 13 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน คิดเป็นเงินชดเชยวันละประมาณ 10.4 ล้านบาท หรือ ปีละเกือบ 4 พันล้านบาท

"การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาทตลอดสาย จะต้องทำเฉพาะเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่อยู่แถบชานเมืองหรือพื้นที่ไข่ขาว และจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเส้นทางที่ให้สัมปทานเอกชนไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหรือพื้นที่ไข่แดง เนื่องจากจะต้องเสียเงินชดเชยให้เอกชนจำนวนมาก" นายสามารถ กล่าว

TDRI เสนอค่าโดยสารรถไฟฟ้า 30 บาท/เที่ยว

ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การกำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม จำเป็นต้องศึกษารอบด้าน เช่น ฐานรายได้ต่อเดือนของผู้ใช้บริการ รวมถึงรายละเอียดของโครงข่ายเส้นทาง โดยเฉพาะต้นทุนค่าเดินทางในระบบรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายต่อเดือนจะต้องแบบรับได้ โดยราคาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 30 บาท/คน/เที่ยว

"คนไทยไม่ควรจ่ายค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าเกิน 100 บาทต่อวัน ถ้าค่าโดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ 30 บาท หรือ ไป-กลับวันละไม่เกิน 60 บาท ประชาชนที่มีฐานเงินเดือนประมาณเดือนละ 18,000 บาท จะต้องจ่ายเฉลี่ย 1,200 บาทต่อเดือน ถือเป็นต้นทุนที่รับได้" นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวว่า การกำหนดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายแล้วจ่ายเงินชดเชยให้เอกชนผู้ถือสัมปทานจำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และต้องอยู่ในพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระกับรัฐมากเกินไป

ความเป็นไปได้ที่ค่าโดยสารลดไฟฟ้าจะถูกลง อาจจะเริ่มได้จากโครงการที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ 100% หรือ เลือกอุดหนุนแบบเดียวกับค่าโดยสาร (ขสมก.) และ (รฟท.) แต่การจะอุดหนุนส่วนต่างจะต้องสูญเสียงบประมาณของประเทศมหาศาล แม้คนที่ได้ประโยชน์ จะคือประชาชนที่เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าเป็นประจำ แต่ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี กลุ่มที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้าทั้งประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :