กันต์สินี อารีย์โชคชัย อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมคณะเดินทางมาร่วมชุมนุมกับ 'คณะประชาชนปลดแอก' ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
กันต์สินี เล่าว่า ต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2550 วันนี้เห็นการทำกิจกรรมของเยาวชนแล้วรู้สึกดีใจ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่แสดงตัว ตนรอคอยวันที่เด็กรุ่นใหม่ออกมารับรู้เรื่องราวที่เราเคยต่อสู้มาตลอด
"เราชื่นใจกับสิ่งที่เราได้ต่อสู้มา 10 กว่าปี" อดีตคนเสื้อแดงบอกและเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีภูมิความรู้จริง ใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวช่วย และไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล แต่เป็นการออกมาทั่วทุกภูมิภาค
กันต์สินี บอกว่า เมื่อย้อนกลับไปในอดีต อีกฝั่งหนึ่งจะมองว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีคนเห็นด้วยกับกลุ่มรากหญ้า หลายคนยังถูกมองเป็นพวกไพร่อีกด้วย อย่างไรก็ตามเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่พวกเราทำนั้นถูกต้อง
"เด็กรุ่นใหม่ศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยเริ่มถดถอย เศรษฐกิจและบริบทแวดล้อมไม่ทันกับประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้เด็กรุ่นใหม่ เรียนรู้ ศึกษาและนำมาพูดแทนเราทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เราต้องการจะส่งไม้ต่อ เขาคิดเหนือกว่าที่เรากล้าทำมาในอดีตด้วยซ้ำ"
อดีต นปช.บอกว่า คนเสื้อแดงฟังเนื้อหาที่เรียกร้องและติดตาม 'ม็อบประชาชนปลดแอก' ในทุกๆ เวที หากมีพื้นที่ใดที่พอจะไปร่วมสนับสนุนได้ ก็จะไปดูบรรยากาศและให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่
"เรามองเห็นแววตา เห็นความรู้สึกและพลังที่เขามองมา เขาชื่นชมและขอบคุณพวกเรา" กันต์สินี ยิ้ม
คณะประชาชนปลดแอก ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา ภายใต้ 2 จุดยืน ไม่เอารัฐประหาร และ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ
กันต์สินี บอกว่า กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเห็นด้วย และเป็นข้อเรียกร้องที่ตรงประเด็น ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ประเมินและรับรู้ด้วยตัวเอง
เธอมองว่า เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ พวกเขาต่างหวังดีและอยากให้ประเทศมีความก้าวหน้า เวลานี้อยากให้เยาวชนอีกจำนวนมากที่ยังเฝ้ามองและยังไม่ลุก ให้ลุกขึ้นมาช่วยกัน เพราะคำพูดที่บอกว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” สะท้อนว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดส่งผลต่อชีวิตและอนาคตของพวกเขา ขณะที่พวกเราเองเหลือเวลาไม่มาก พลังของเด็กคือพลังบริสุทธิ์ที่จะบอกผู้ใหญ่ว่าประเทศกำลังจะถดถอย
“ขอเตือนไปถึงผู้ใหญ่ว่าถ้าทำอะไรเด็กๆ แม้แต่นิดเดียว คุณจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นโดยที่คุณอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย”
กันต์สินี กล่าวว่า ในอดีตการปราศรัยทางการเมืองจะเป็นในลักษณะแข็งกร้าว ดุดันและจริงจัง ไม่ค่อยมีการใช้โซเชียลมีเดีย ผิดกับปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอรรถรสที่หลากหลายและมีเสน่ห์ ทุกประเด็นการเรียกร้องจะมีเนื้อหาอื่นๆ มาประกอบและเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ผู้ใหญ่หลายคนอดยิ้มไม่ได้ "คิดได้ยังไง" ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ทำให้การชุมนุมไม่น่ากลัว มีแต่คนอยากมาเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและเสียงหัวเราะกลับไปบอกต่อ
“วันนี้เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราทำไม่ผิด ยังคงถูกต้อง ถ้าผิด เด็กก็คงไม่เดินตามรอย พวกพี่กำลังจะส่งไม้ให้เด็กรุ่นใหม่ ตอนนี้รู้สึกโล่งใจเพราะเวลา 6 ปีที่รัฐประหารมันเงียบไปแล้ว เราก็คิดไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ทันทีที่เด็กลุกขึ้นมาเรียกร้องในสิ่งที่เราเคยเรียกร้องในอดีต เรารู้สึกว่ามีความหวังที่จะทำให้ประเทศนี้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์” กันต์สินี ทิ้งท้าย