ไม่พบผลการค้นหา
'ทีม ศก.เพื่อไทย' รอจับตา 30 ก.ย. นี้ คนจนจะหมดประเทศ หรือจะจนทั้งประเทศ เย้ยรัฐบาลตีปี๊บคนลงทะเบียนบัตรคนจนเพิ่ม แทนที่จะมองเป็นความล้มเหลว ซัดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล่าช้า ทำภาพลักษณ์ติดลบ 'โจ ไบเดน' ชิ่งไม่ร่วมเอเปค

วันที่ 27 ก.ย 2565 คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นำโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง ร่วมกันแถลงข่าวในหัวข้อ 'เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ไทยจะรับมือไหวไหม'


อเมริกายังไม่ไหว ไทยจะเหลือหรือ

โดย พิชัย กล่าวถึง กรณี โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่เข้าร่วมการประชุมเอเปคในกรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นการเสียหน้าอย่างมาก การจัดงานหากไม่ได้ผลตามที่คาดก็จะเสียค่าใช้จ่ายฟรี ขณะที่มาเลเซียเองได้กลายเป็นประเทศรายได้สูงนำไทยไป เกือบ 5 แสนบาทต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศไทยยังเหลืออีก 20 ปี กว่าจะไปถึงขั้นนั้น ยิ่งมีการบริหารเช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงกับเขาบ้าง

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งค่อนข้างสูงและต่างจากของไทยมาก กระทั่งสิ้นปีอาจขึ้นสูงถึง 4.25-4.5% เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งอาจกระทบให้สหรัฐอเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ และจะลุกลามไปสู่ยุโรปในที่สุด ส่วนผลกระทบของไทยคือค่าเงินบาทอ่อน และที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งการให้ตรึงค่าเงินบาทที่ไม่เกิน 35 ดอลลาร์สหรัฐ ตนมองว่าเป็นเรื่องตลก เพราะการตรึงค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาล และรัฐบาลไม่สามารถสั่ง ธปท. ได้

ปัจจัยหลักของเงินเฟ้อ มาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยกับไทยต่างกัน 2.5% และนำมาสู่ปัญหาเงินไหลออกกว่าล้านล้านบาท ตนอยากให้ ธปท. ออกมาชี้แจงสถานการณ์อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ดีกว่ามาแถลงแก้ตัว อีกปัจจัยคือดุลการค้าของไทยขาดทุนอย่างมาก และมีทิศทางจะจาดดุลเพิ่มเนื่องจากมีการนำเข้าแก๊สและน้ำมันอยู่มาก

"เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกยังดี เรายังทำธุรกิจโตน้อยมาก ถ้าหากเศรษฐกิจโลกถดถอย เราจะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลและอยากให้การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย" พิชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่คนในรัฐบาลได้พูดว่า หากในวันที่ 30 ก.ย.นี้ มีการเคลื่อนไหวมากไป ระวังจะไม่ได้เลือกตั้ง พิชัย มองว่า เป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบ ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดี ต่างประเทศก็มองว่าขนาดคนในรัฐบาลในประเทศที่ห้ามโตว่าเป็นประชาธิปไตยยังตามลักษณะอย่างนี้หรือ ยังกล้าพูดถึงการรัฐประหารและห้ามเลือกตั้งเป็นปกติหรือ ถือเป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบและสร้างปัญหา ยิ่งพูดก็ยิ่งทำให้เราเสื่อม


ไร้มาตรการแก้เศรษฐกิจ

ด้าน ศรัณย์ ชี้ให้เห็นถึงความอันตรายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเตรียมแผนรับมือที่แน่นอนเพื่อรักษาสถานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนได้ แต่ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีทิศทางหรือยัง และตั้งใจจะทำอะไรแน่ต่อสถานการณ์เช่นนี้ มีข่าวหลากหลายจากทางฝั่งรัฐบาล ทั้งความเป็นห่วงต่อปัญหาต่างๆ เพราะรัฐบาลพยายามแสดงออกว่าตัวเองสนใจ แต่กลับไม่มีวิธีดำเนินการที่แน่นอน

หลายประเทศมีความชัดเจนว่าต้องการจะส่งธุรกิจในประเทศให้เข้มแข็ง ซึ่งเราไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ในรัฐบาลไทย ในภาวะที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวกับเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลไทยกลับไม่ได้สนใจสร้างแผนรองรับ มักพูดเสมอว่าเรามีเงินสำรองเยอะ แต่หากขาดแผนการที่ชัดเจน สหรัฐอเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ เงินสำรองก็จะเป็นเพียงเงินไปจ่ายหนี้ ทั้งที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่านี้

"ไม่กี่วันก่อนรัฐบาลยืดอกภูมิใจที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิมากขึ้น โดยบอกว่านี่คือผลงานการช่วยเหลือประชาชน แต่ผมอยากให้คิดดีๆ ว่านี่คือสิ่งที่ท่านกำลังช่วยเหลือประชาชนแบบใดกันแน่ หากมีประชาชนรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อคนต่อปีมากขึ้น คือเดือนละน้อยกว่า 8,300 บาท เป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชนแน่หรือ" ศรัณย์ กล่าว


จี้จุดอ่อนการท่องเที่ยว

ส่วน จักรพล กล่าวว่า เวลานี้ทุกประเทศทั่วโลกและประชาชนไทยพร้อมรับฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ของปีแล้วถือเป็นช่วงเวลาจุดติดเครื่องยนต์ในด้านเศรษฐกิจ ตนก็ยินดีที่ การท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (ททท.) ได้พยายามเปิดแคมเปญ และมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศเต็มที่ แต่ก็ล้วนเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้เน้นย้ำมาแล้ว ขณะที่รายละเอียดของนโยบายก็ยังไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวยังคงตกต่ำ

จักรพล ชี้ให้เห็นจุดอ่อน 5 ข้อ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เป้าหมายทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวไม่สำเร็จ ได้แก่ 1) มีเป้าหมายต่ำเกินไป ส่งผลต่อรายได้ของภาคธุรกิจแรงงาน 2) การฟื้นตัวที่ล่าช้าเกินเหตุเพราะไม่ฟังเสียงเดือดร้อนของประชาชน เห็นได้จากการเพิ่งจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่หลายประเทศเปิดประเทศเต็มที่กันไปแล้ว 3) การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแบบเฉพาะหน้า ไม่ยั่งยืน

4) ระบบการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กระท่อนกระแท่น ทั้งจากในและนอกประเทศ มีขั้นตอนยุ่งยากยาวนาน เพิ่มภาระให้นักท่องเที่ยว ไม่ยืดหยุ่น ผลักมิตรไปเป็นศัตรู 5) นโยบายทางการเงินที่ไม่ทั่วถึง คนในระบบเข้าไม่ถึงแหล่งการเงิน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดแรงสนับสนุน

"รัฐบาลน่าจะรู้ดีว่าตัวเองมีจุดอ่อนมากมาย แม้จะทำดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถปิดบาดแผล ช่องโหว่ของตัวเองได้ ควรพิจารณาว่าตัวเองจะยื้อและดื้อดึงเป็นรัฐบาลต่อไปได้อีกหรือไม่ ควรคืนอำนาจให้ประชาชน และเปิดโอกาสให้มืออาชีพตัวจริงเข้ามาบริหารประเทศ" จักรพล กล่าว


คนจนหมดประเทศ หรือจะจนทั้งประเทศ

ขณะที่ อนุสรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 30 ก.ย. นี้มีเรื่องให้ลุ้นหลายเรื่อง ทั้งเรื่องหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ไม่รู้ว่าจะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ รวมไปถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศว่า ใน 30 ก.ย. นี้ คนจนจะหมดไปจากประเทศ และนำมาอ้างบ่อยครั้งว่าเป็นผลงานของรัฐบาล นี่เหลืออีกไม่กี่วัน แต่ดูแล้วคนจนจะยังไม่หมดไป แต่ดูท่าว่าจะจนกันทั้งประเทศ เพราะรัฐบาลไร้มาตรการที่ดี

"จากจำนวนคนลงทะเบียนบัตรคนจน 6 ล้านคน พุ่งขึ้นเป็น 20 ล้านคน แทนที่จะยอมรับว่าเป็นความล้มเหลวรุนแรง รัฐบาลกลับดีใจที่มีคนมาลงทะเบียนคนจนเพิ่มขึ้น นี่ถ้ามีคนลงทะเบียนคนจนทั้งประเทศ จะไม่เฉลิมฉลองใหญ่โตกันเลยหรือ" อนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ จัดประชุมเอเปค โจ ไบเดน ได้ไปประชุม G20 ที่ประเทศบาหลี มีเวลามาที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 18-19 พ.ย. อย่างสบาย แต่ก็ไม่มา ตนขอถามรัฐบาลว่าได้พิจารณาตนเองหรือไม่ว่ามีบทบาทอย่างไรในสายตาของประเทศชั้นนำ เอาแค่เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่หลบหลังโควิด-19 มา 2 ปี 6 เดือน ไม่รู้ว่าหากไม่มีเอเปคจะได้ยกเลิกหรือไม่ สะท้อนความคิดแบบราชการ จะเลิกอะไรต้องรอ 30 ก.ย. จะเริ่มอะไรใหม่ต้องรอ 1 ต.ค.

ด้วยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ล้าช้านี้เอง ได้ทำให้เห็นถึงการกดทับสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน สร้างภาพลักษณ์ด้านลบและความเสื่อมเสียให้แก่ประเทศ รัฐบาลควรใช้สถานการณ์นี้พิจารณาว่านี่เองคือเหตุผลที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะไม่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ