ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกาสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท ‘ธนิกานต์’ ส.ส.พปชร. ปมเสียบบัตรประชุมสภาฯ แทนกัน รอลงโทษ 2 ปี

วันที่ 3 ส.ค. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 19/2564 คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปัจจุบันถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ กรณีเสียบบัตรแทนกัน ผลการพิพากษาชี้ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ต้องโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 จำเลยดำรงตำแหน่ง ส.ส.เขต 7 (บางซื่อ-ดุสิต) กทม. ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม 

จำเลยได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของจำเลยกับ ส.ส.รายอื่น หรือบัตรของจำเลยอยู่ในความครอบครองของ ส.ส.รายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้ ส.ส.รายนั้น ใช้บัตรของจำเลย กดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนจำเลยในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว วาระที่ 1 โดยมีเจตนาทุจริต แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน

อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำเลยให้การปฏิเสธ

องค์คณะผู้พิพากษาได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับ ส.ส. รายอื่น เพื่อให้ลงคะแนนแทนกัน เป็นกรณีที่จำเลยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตน เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ถือได้ว่าเป็นปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย

อย่างไรก็ตามมูลเหตุที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากจำเลยต้องไปเป็นวิทยากร  ในงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ เลขที่ 1256/9 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่องการเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สภาฯ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...

พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยในสถานหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี

มูลเหตุคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้วินิจฉัยว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 87 ตามคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 2/1564 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ศาลฎีกานัดพร้อมในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. เพื่อรอฟังผลคดีนี้