พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม เดินทางไปร่วมการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 36 ณ โรงแรมหนองคายธาวิลล่า ตําบลมีชัย อําเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมี นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย และนางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย เขต 2 พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกเทศบาลตำบลโพนพิสัย และ นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานพิธีกล่าวเปิดงานว่า วันนี้ ผมไม่ได้มาคนเดียว แต่พาคณะทำงานมาช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องในสถานที่แห่งนี้ ที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะชาวจังหวัดหนองคายแต่ยังรวมข้าราชการ โดยในส่วนคณะทำงานทั้งหมดนี้ได้มาร่วมข่วยงานของกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้คลี่คลายได้มากที่สุด
จากที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐ ทวีสิน” แถลงนโยบายของรัฐบาลไว้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 สิ่งที่ประกาศไว้มีความชัดเจนประการแรก “การนำทุกข์ของประชาชนออกไป” คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ที่รวมถึงหนี้เกษตรกร และหนี้ต่างๆ ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ นอกจากนี้ ยังรวมถึงหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ หนี้ กยศ. สิ่งที่ได้ประกาศไว้นั้นได้ดำเนินการแล้ว เช่น การแก้หนี้นอกระบบโดยมอบหมายกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการ แต่หนี้อีกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้สินในระบบ ที่วันนี้ที่ กรมบังคับฯ มีการบังคับใช้กฎหมายในการบังคับคดีที่มีการตั้งเรื่องไว้มากกว่า 3 ล้านคดี ทุนทรัพย์หลายหมื่นล้าน มีการยึดทรัพย์เตรียมขายทอดตลาดอีกกว่า 7 แสนคดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือทุกข์ของประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วน หนี้ กยศ. ผมเตรียมใช้โอกาสในการจัดเวทีนี้ มอบหมายอดีต ผู้บัญชาการ ปปส. พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เพื่อวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหนี้ก้อนนี้ในพื้นที่ประมาณ 6.8 ล้านบาท เป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.8 ล้านบาท ให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทวงยุติธรรมร่วมวางแผนกับ กยศ. ว่า ในกลุ่มผู้ค้ำประกันหนี้ประมาณ 3.8 ล้านบาท เนื่องในปีมหามงคล 30 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ กระทรวงยุติธรรม จะพยายามหาแนวทางเพื่อให้การค้ำประกันเป็นศูนย์ ซึ่งปัญหาหนี้ กยศ.ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีหนี้ก้อนนี้ไม่มาก ก็หวังว่าจะผลักดันได้ในไม่เกินปลายปี
“อย่างน้อย ลูกหนี้ กยศ.ที่มางานนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ห่วงตนเอง แต่ห่วงผู้ค้ำซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเสียมากกว่า เพราะกังวลทรัพย์ของครอบครัว เป็นที่มาของเป้าหมายในการวางยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายของรัฐบาลด้วย”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง หนี้สินในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือหนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งมหกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการใช้แนวทางของ ความยุติธรรมทางเลือก ความยุติธรรมสมานฉันท์
นอกจากนี้ ยังมีมิติใหม่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลจะสร้างให้ประชาชน มีรายได้เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการสร้าง 6 อ. “คนต้องมีอาหารกิน มีอาชีพ มีโอกาส อัตลักษณ์ ต้องไม่ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเว็ต 10,000 บาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่น แตกต่างสิ้นเชิงจากเดิมงบประมาณที่กระจายสู่ท้องถิ่นไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์จาก 3 ล้านล้านบาท ทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการนำงบประมาณกระจายลงท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถือเป็นครั้งแรกที่ คนในชุมชนจะได้รับตรงในเงินงบประมาณของรัฐ