ไม่พบผลการค้นหา
'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ยื่นหนังสือร้อง 'ประยุทธ์' คัดค้าน ครม. จ่อเลื่อนบังคับใช้ 'พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย' จี้ต้องใช้ตามกำหนดเดิม 23 ก.พ. นี้ จวกผู้บังคับบัญชากลัวถูกเช็กบิลย้อนหลังหาก กม.ประกาศใช้

วันที่ 14 ก.พ. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ประตู 1 ถ.พิษณุโลก บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ตัวแทนภาคประชาชนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีความพยายามในการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ) โดยมีการใช้อคติทางการเมืองหรือกลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือหรือไม่ 

ทั้งนี้ ยังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองต่อสาธารณชนว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 23 ก.พ. 2566 เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยโดยผู้มีอำนาจ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยถึงเหตุผลเบื้องหลังว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างเหตุผลที่ขอชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ออกไป เพราะขาดงบประมาณและความพร้อมในการจัดหากล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัตงานนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น 

แต่เหตุที่แท้จริงเป็นเพราะ พ.ร.บ.นี้ จะมีผลย้อนหลังให้สามารถสืบสวนผู้เจ้าหน้าที่ บุคคล หรือผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือการบังคับสูญหาย ให้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้

รวมถึงกระแสข่าวว่ากระทรวงยุติธรรมพยายามผลักดันวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเลื่อนการใช้งาน พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป ทั้งที่กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการออกระเบียบและผลักดัน พ.ร.บ.นี้ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว การกระทำเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ

บรรยากาศการยื่นหนังสือ มีนักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สายน้ำ นักกิจกรรม สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายจากการทรมานโดยการคลุมถุงดำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของ สยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากคดี 112 ที่สูญหายไปเมื่อปี 2562

ในช่วงหนึ่ง กัญญา ระบุว่า ตนหวังว่าสังคมไทยจะให้ความสนใจกับกรณีการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ เนื่องจากลูกชายของตนก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกทำให้สูญหาย อย่างไร้วี่แววของการติดตามค้นหา จึงไม่ควรอ้างเหตุผลใดมาเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปอีก

"ขอวิงวอนให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะเราก็เหมือนพี่น้องร่วมแผ่นดินเดียวกัน อย่าใจร้ายกับเรานักเลย เราก็กินข้าวเหมือนกัน มีชีวิต มีลมหายใจเหมือนกัน เจ็บป่วยเหมือนกัน แต่คุณมาทำแบบนี้ เราไม่เห็นด้วย" กัญญา กล่าว

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลราว 30 นาย เข้าดูแลความเรียบร้อยบริเวณประตู 1 ทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยรับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี และจะชี้แจงความคืบหน้าให้ทราบภายใน 15 วันหลังยื่นหนังสือ