ก่อนที่นักศึกษา-ประชาชนจะลุกฮือลงถนนขับไล่รัฐบาลเผด็จการ และกลายมาเป็นกลุ่ม 'ราษฎร' ในปัจจุบัน 'ต้น' ภัทร ชุมทอง มือกีต้าร์วงดนตรีเมทัลชั้นนำของไทยวง Dezember วงดนตรีที่ทำเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับ "ความตาย" "สงคราม" "การเมือง" "สังคม" "ศาสนา"
แต่ประเด็นหลัก 'ต้น' ปกธงไปที่การโจมตีนักการเมือง คือต้นเหตุแห่งปัญหาสังคมไทย - เข้าทางวาทะ "นักการเมืองเลว"
ไม่แปลกที่วงของเขาจะขึ้นเล่นดนตรีบนเวทีของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2556 - 2557 แต่พอรัฐประหาร คสช. และลากยาวมาถึงปัจจุบัน เขาค่อยๆ เติบโตเรียนรู้ มองปัญหาบ้านเมืองเลยหลังนักการเมืองไปถึงใจกลาง หรือ "ช้าง" ที่อยู่ในห้อง
แต่วินาทีนี้ จุดยืนทางการเมืองของเขาจากคนปกป้องสถาบันกษัตริย์ หันธงมาสู่การสนับสนุนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เหตุผลที่ทำให้มือกีต้าร์ผู้พร้อมพลีชีพเพื่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปคืออะไร
เขาทบทวนตัวเองและเรียนรู้สังคมไทยอย่างไร
“ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี พูดง่ายๆ คือ คลั่งเจ้า” ต้นตอบสั้นๆ เมื่อถามว่าทำไมถึงเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.
ไม่ว่าจะเป็นใคร หน้าไหน ถ้าเขารู้ว่าพูดอะไรที่ส่อเหมือนว่าจะวิจารณ์จนทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย เขาพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้เพื่อปกป้อง
ต้นเล่าว่า มีครั้งหนึ่งช่วงที่คลั่งเจ้าอย่างหนัก เพียงแค่ได้ยินนักการเมือง นักวิชาการฝ่ายซ้าย หรือพวกที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้าวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ออกทีวี หรือในโลกออนไลน์ เขาจะรู้สึกโกรธแค้นจนตัวสั่น พร้อมสบถคําหยาบ สาปแช่ง ถึงโคตรเหง้าต่างๆ ออกมาในใจ
“เกือบจะไปถึงขั้นพลีชีพเพื่อปกป้องได้เลยนะที่ผ่านมา” เขาพูดสีหน้าจริงจัง แล้วกล่าวต่อว่า “แต่ก็อย่างว่า พอเขาโกรธมากๆ ปัญญาและสติก็ไม่เกิด”
ต้นสารภาพว่าเขาพร้อมที่จะทำอะไรที่ขาดสติได้เสมอ และเขาจะไม่ฟังเหตุผลของคนที่วิจารณ์สถาบันฯ ด้วย ทั้งที่แต่ละคำ แต่ละประโยคที่คนเหล่านั้นพูดออกมา มันเต็มไปด้วยเหตุด้วยผลที่ฟังขึ้นและมีมูลความจริงก็ตาม
ดูวิดีโอสัมภาษณ์ได้ที่ :
เหตุที่รักและคลั่งสถาบันฯ จนพร้อมจะพลีชีพเพื่อปกป้องนั้น เขาอธิบายว่า ตั้งแต่เด็กก็ถูกพ่อแม่ผู้ใหญ่สั่งสอน ปลูกฝังให้รักเคารพด้วยไม่ต้องสงสัยและตั้งคำถามใดๆ
“เรื่องสถาบันกษัตริย์ ผมไม่เคยแตกแถวเลยสักนิดเดียว แค่ทำเหรียญตก ทำแบงก์ตก เดินข้ามเหรียญ ข้ามแบงก์ ต้องหยิบขึ้นมาไหว้ก่อนใส่กระเป๋า เป็นถึงขนาดนั้นเลยนะ" เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
นอกจากการปลูกฝังให้รักสถาบันฯ จากพ่อแม่ จากครูอาจารย์ ต้นยังเชื่อไปกับการชวนเชื่อผ่านโทรทัศน์ในช่วงฟรีทีวีรุ่งเรือง
“ช่วง กปปส. ผมเสพข่าวจากฟรีทีวีและช่องดาวเทียมบางช่องที่มักมีนักวิชาการ อาจารย์ฝ่ายขวาที่มีความคิดอนุรักษ์นิยม เชิดชูสถาบันฯ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จะมีแต่ข้อดี” เขากล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขารักสถาบันฯ จนถึงคลั่ง โดยไม่เคยตั้งคำถามและข้อสงสัยต่อสถาบันฯ แม้แต่น้อย
“ปลายพฤศจิกายนถึงต้นธันวาคมปี 2562 ผมเริ่มเข้าใจว่าการเมืองไทยมีอะไรหลายอย่างที่ไม่รู้ และผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเชื่อเรื่องเดิมๆ”
เขาเริ่มเปิดใจรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองจากอาจารย์และนักวิชาการฝ่ายตรงข้ามที่เขาเคยสาปแช่งและเกลียดมาก่อน และเลือกที่จะไม่เชื่อข้อมูลหรือหลักการอะไรก็ตามที่ยกขึ้นมาอ้าง
เขากล่าวอีกว่า อย่างอาจารย์ปวิน (รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์) อย่างอาจารย์สมศักดิ์ (ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) - สองนักวิชาการที่รณรงค์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตลอด
“นักวิชาการสองท่านนี้สามารถย่อยเรื่องราวประวัติศาสตร์และข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยให้อยู่ในรูปแบบของภาษาชาวบ้านคุยกัน” ต้นกล่าว
นอกจากนี้ ต้นยังศึกษาค้นคว้าอ่านตำราของนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ธงชัย วินิจจกุล, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยและบทบาทสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยอีกด้วย
"ความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์จากงานวิจัย งานวิชาการ รวมถึงคำพูดต่างๆ ของอาจารย์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเหตุด้วยผลที่น่าเชื่อถือ มีหลักการ แนวคิด ทฤษฏีในการวิเคราะห์
"ผมฟังแล้วรู้สึกว่านักวิชาการเหล่านี้กำลังพูดในสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็น ควรจะมี นั่นคือการรักอย่างมีสติและมีเหตุมีผล" ต้นกล่าว
เมื่อเขาพยายามเรียนรู้เหตุผลใหม่ๆ กลายเป็นว่านักวิชาการที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์กลับไม่พร้อมให้คนอื่นตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัย แต่ละคนไม่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่จะเน้นการพูดยาวๆ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการเยอะๆ แต่ไม่มีเนื้อหาแก่นอะไร
“ผมตาสว่างเรื่องการเมืองไทยเพราะนักวิชาการที่ตัวเองเคยเกลียด แม้มาตาสว่างตอนอายุจะเข้า 50 ปี ก็ตาม” ต้นกล่าว
สำหรับต้น เขายืนยันว่าประเทศไทยควรมีสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในประเทศ แต่เขาเห็นว่าประชาชนควรตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันฯ ได้
เขากล่าวว่า ปัจจุบันมีเรื่องเล่า ซุบซิบ นินทาถึงบางเรื่องที่สถาบันฯ แสดงออกและถูกประชาชนตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสม แต่กลับไม่เคยได้รับคำชี้แจงจากสถาบันฯ ในทางสาธารณะ ว่าเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องจริงหรือไม่อย่างไร
“เมื่อไม่ได้การชี้แจงจากสถาบันฯ ประชาชนก็เอาไปซุบซิบ นินทา ตามร้านเสริมสวย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ” เขากล่าว
เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่าสถาบันฯ ถูกใส่ร้าย กล่าวหาฝ่ายเดียว ซึ่งสำหรับเขา ถือว่าไม่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อสถาบันฯ
“ดังนั้นสถาบันฯ ควรชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบคำถามข้อสงสัยของประชาชนอย่างมีเหตุมีผล สิ่งเหล่านี้จะสร้างความสบายใจให้กับคนที่รักสถาบันฯ และรู้สึกอยากปกป้องไว้” ต้นกล่าว
ตั้งแต่การปราศัยถึงบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยบนเวทีชุมนุมม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563
ต่อด้วยการแถลงการณ์และข้อเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 บนเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต
จนถึงการชุมนุม “ทวงอำนาจคืนราษฎร” ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 19 กันยายน 2563 และการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อต่อคณะองคมนตรีในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2563
การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการแสดงความเห็นทางการเมือง รวมถึงวิพากวิจารณ์การเมืองไทยดังกล่าวไม่เพียงแค่พูดถึงการบริหารงานของรัฐบาล แต่ไปไกลถึงการวิจารณ์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย ซึ่งไม่เคยพูดในที่สาธารณะมาก่อน
และต้นก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่แสดงความเห็นสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
เหตุผลที่ร่วมสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับม็อบคณะราษฎร 2563 เพราะต้นคิดว่านี่ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันฯ หรือล้มเจ้า แต่เป็นการล้มล้างการโหนเจ้า
"สถาบันกษัตริย์ถูกคนบางกลุ่มเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่น เหล่าขุนนาง อำมาตย์ และชนชั้นนำทั้งหลาย อย่างที่เห็นมีบางไม่กี่ตระกูลที่ร่ำรวย มันถึงเวลาที่น่าจะปฏิรูปได้" ต้นกล่าว
สำหรับต้น ในฐานะประชาชนคนไทยคนนหนึ่ง ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าจะให้สถานะและบทบาทของสถาบันฯ เป็นเพียงในเชิงวัฒนธรรม ไม่ต้องมีบทบาทและอำนาจทางการเมือง
"เหมือนแบบญี่ปุ่นที่มีความสง่า ความงดงาม อยู่อย่างสมพระเกียรติ ประชาชนมีความรัก เคารพในเชิงวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองและทหาร" ต้นกล่าว
สุดท้ายเขาอยากบอกคนที่ยังรักสถาบันฯ อย่างบ้าคลั่งและพร้อมจะทำร้ายคนอื่นที่วิพากษ์ เหมือนกับเขาในอดีตว่า อยากให้คนเหล่านั้นรักอย่างมีสติ รู้จักตั้งข้อสงสัย รู้จักตั้งคำถาม และหาเหตุผลมารองรับความเชื่อ ความรักดังกล่าว เคารพคนที่คิดเห็นต่าง
"ไม่ใช่ให้เลิกเคารพหรือเลิกรัก แต่อยากให้กลับมาเป็นคนปกติ มีสติเหมือนคนปกติทั่วไป" ต้นกล่าวทิ้งท้าย