ตัดภาพมาในการเกลี่ยตำแหน่งรอบนี้ ผู้กุมอำนาจขอยึดกุมกระทรวงเกรดเอทั้งหมดไว้กับตัวเอง ปล่อยเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเกรดเอ ผสมด้วย ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเกรดรองลงมา นัยยะหนึ่งสะท้อนให้เห็น มาตรฐานการเกลี่ยตำแหน่งในยุคสุเทพ ซึ่งได้กลายเป็นบ่วงรัดคอ “พลังประชารัฐ“ ให้จำยอมต้องปล่อยมากกว่านี้ ทว่าบริบทวันนี้ไม่เหมือนวันนั้น ปรากฎสัญญาณชัดเจนเช่นกันถึงหลักการ “กระทรวงที่ไม่อาจร้องขอ-ตำแหน่งที่ไม่อาจเรียกร้อง”
หนังสือชีวประวัติ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่จัดทำขึ้นระหว่างการชุมนุม กปปส. บอกเล่าฉากทรรศน์ทางการเมืองถึงปฏิบัติการปั้น “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรีไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน หนึ่งในส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือการเล่าถึงหลักในการเจรจาการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย
ในยุคสมัยที่ผู้จัดการรัฐบาลชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หลักการเจรจาต่อรองทางการเมืองของสุเทพ ยึดหลักไม่เอาเปรียบใคร “วิธีต่อรองเจรจาของผมก็คือผมไปยื่นข้อเสนอให้ชนิดที่เขาปฏิเสธไม่ได้ ข้อเสนอผมก็คือว่า พวกคุณที่เคยอยู่กับทักษิณนี่เคยบริหารงานกระทรวงไหนบ้าง ผมให้กระทรวงนั้นคุณเลย คุณพอใจไหมละ ถ้าไม่พอใจตรงไหนมาเจรจาได้”
“คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน นี่ผมให้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ เขาแทบจะกระโดดกอดเอวผมเลย คุณสมศักดิ์ยังบอกว่า พี่สุเทพเขายื่นเงื่อนไขแบบที่ผมปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ผมก็ติดต่อให้เขาดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เขาถนัด”
เมื่อย้อนรอยดูตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 จะพบร่องรอยที่น่าสนใจและอาจช่วยให้อ่านเป้าหมายการเมืองของพรรคที่จ่อร่วมรัฐบาลในเวลานี้ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ 3 พรรคใหญ่ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา”
“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ 3 ป. คุม “กลาโหม”
“พรรคภูมิใจไทย” คว้ากระทรวงเกรดเอไปครอง เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงคมนาคม,กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“พรรคชาติไทยพัฒนา” คว้ากระทรวงเกรดรองลงมาไปครอง เช่น รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
การหยิบยื่นตำแหน่งทางการเมืองในกระทรวงเกรดเอ งบประมาณหนา เป็นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในทางการเมือง สูตรจัดตั้งรัฐบาลของสุเทพในเวลานั้นคือ ใครจะเอากระทรวงไหนก็เอาไป แต่ขอนายกรัฐมนตรีชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
สุเทพเผยบทสนทนาในการประชุมพรรค “บางคนที่ประชุมพรรคยังบอกว่า พรรคเราไม่ต้องไปต่อรองเลือกสรรว่าจะคุมกระทรวงอะไรหรอก ให้เลขาฯ พรรคจัดการเต็มที่ ขอให้หัวหน้าอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็พอ”
ตัดกลับมาที่การต่อรองเก้าอี้ในปัจจุบัน หลักการเจรจาของ “พลังประชารัฐ” มีความชัดเจน แตกต่างไปจากหลักของ “สุเทพ”
หลักก็คือ “กอดกระทรวงเกรดเอ ปล่อยกระทรวงเกรดรอง”
หลักการนี้สร้างความไม่พอใจในหมู่พรรคที่จ่อร่วมรัฐบาล โดยยกมาตรฐานการแจกตำแหน่งของสุเทพ ขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรองเก้าอี้
กอดกระทรวงเกรดเอ คือชัดเจนว่ารัฐมนตรีในกระทรวงต่อไปนี้ ต้องเป็นนายพลจากทีม คสช. หรือ นักการเมือง-เทคโนแครตในแบรนด์ พลังประชารัฐ
กระทรวงเกรดเอที่ว่าก็เช่น กระทรวงมหาดไทย-กลาโหม-พลังงาน-คมนาคม-เกษตรและสหกรณ์ บวกสี่กระทรวงที่ทีมสมคิดต้องเทคโอเวอร์ คือ คลัง-อุตสาหกรรม-พาณิชย์-อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
หลักการก็คือเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเกรดเอเหล่านี้ ให้พรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ให้ตำแหน่งหลัก
ปล่อยกระทรวงเกรดรองลงมา คือชัดเจนว่าพร้อมแจกตำแแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเกรดรองลงมา เช่น ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,การต่างประเทศ,การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ยุติธรรม,แรงงาน, วัฒนธรรม, ศึกษาธิการ, สาธารณสุข
การแบ่งสันปันผลประโยชน์ รัฐบาลพรรคร่วมเกิน 20 พรรคการเมืองไม่ง่าย ทว่าบริบทวันนี้ไม่เหมือนวันเก่าๆในยุคสุเทพ เพราะปรากฎสัญญาณชัดเจนถึงหลักการ “กระทรวงที่ไม่อาจร้องขอ-ตำแหน่งที่ไม่อาจเรียกร้อง” อันเป็นหลักที่พรรคร่วมทั้งปวงไม่อาจปฏิเสธได้ และจะไม่ดึงดันไปมากกว่านี้
เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ต้องรีบทำให้จบแบบชนิดราบรื่น-รวดเร็ว-พูดให้น้อย คือจะต้องเดินหน้าตั้งรัฐบาลประยุทธ์ สานต่ออำนาจ คสช.ให้สำเร็จก่อน จึงค่อยต่อรองกันอีกระลอก ยามใกล้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและยามใกล้อภิปรายไม่ไว้วางใจ!!