ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ รอบที่ 3 จำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงิน 52.34 ล้านบาท

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายสำหรับที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามผลการตรวจสอบของคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับอำเภอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามรับรองจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับจังหวัดศรีสะเกษแล้วจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงินจำนวน 52.34 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินค่าทดแทนโครงการฝายหัวนามาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จำนวน 104 แปลง เนื้อที่ 628 ไร่ วงเงิน 62 ล้านบาท และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770 ไร่ วงเงิน 34 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร ครม.จึงเห็นสมควรอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลที่มีสิทธิและควบคุมการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานกรรมการ ซึ่งวิธีการจ่ายเงินจะจ่ายโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร(จ่ายตรง)ตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหรือทายาทของบุคคลดังกล่าว โดยให้ระบุในหลักฐานการรับเงินด้วยว่า “ข้าพเจ้ายินยอมรับเงินค่าทดแทนในครั้งนี้ และจะไม่เรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือใดๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนาจากทางราชการอีก”

ไตรศุลีกล่าวว่า รายละเอียดของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงิน 52.34 ล้านบาทมีดังนี้ เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 125,000 บาท อยู่ในอำเภอกันทรารมย์ 61 แปลง เนื้อที่ 223 ไร่ จำนวนเงิน 27.93 ล้านบาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อยู่ในอำเภอกันทรารมย์ 111 แปลง เนื้อที่ 245 ไร่ จำนวนเงิน 11 ล้านบาท, อำเภออุทุมพรพิสัย 69 แปลง เนื้อที่ 108 ไร่ จำนวนเงิน 4.88 ล้านบาท

อำเภอราษีไศล 73 แปลง เนื้อที่ 126 ไร่ จำนวนเงิน 5.7 ล้านบาท, อำเภอเมืองศรีสะเกษ 8 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ จำนวนเงิน 350,550 บาท และอำเภอยางชุมน้อย 111 แปลง เนื้อที่ 53 ไร่ จำนวนเงิน 2.42 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังเหลือที่ดินที่ราษฎรได้ยื่นคำร้องและคำขออีกจำนวน 548 แปลง ซึ่งทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดที่ดิน และจะนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่ราษฎรกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งระหว่างภาคราชการกับราษฎรและสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มราษฎรว่า ภาคราชการไม่ได้เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการ ทางกรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมาดำเนินการในเรื่องนี้