ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา เทวานฤมิตรกุล' เผยประสบการณ์บรรเทาวิกฤตในอดีตและแนวคิดตามคำขวัญ “สอนให้ฉันรักประชาชน” เป็นต้นทุนสำคัญให้ ‘ธรรมศาสตร์’ พร้อมช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สวมแมสก์ปิดปาก เดินสาวเท้าดูแลความเรียบร้อยหน้า 'โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์' ซึ่งถูกดัดแปลงจากอาคารดีลักซ์ (DLUX) ความสูง 14 ชั้น รองอธิการบดีฯ ในฐานะ 'พ่อบ้าน' ของ รพ.สนามฯ ยังกระฉับกระเฉงไม่มีอาการเหนื่อยล้าให้เห็น แม้จะเต็มไปด้วยภาระหน้าที่

“ผมคิดว่า เราจะมารอรัฐบาลแก้ปัญหาให้อย่างเดียวไม่ได้หรอก ประชาชนทุกคนคนละไม้คนละมือ จะเป็นภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน คนธรรมดา มีส่วนช่วยประเทศซึ่งกันและกันได้ทุกคน” ปริญญาบอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ 

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต การบริหารจัดการของ ‘ธรรมศาสตร์’ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง จากมาตรการลดหย่อนค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำคัญให้กับบรรดานักศึกษา ผู้ค้า ลูกจ้าง ผู้ให้บริการรถสาธารณะ ตลอดจนการเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19

เบื้องหลังประสิทธิภาพและมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวคืออะไร ?

โรงพยาบาลสนาม ภาพจากเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul.jpg
  • รพ.สนาม ภาพจากเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul

ช่วยรอบด้าน เริ่มจากคนใกล้ตัว

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ธรรมศาสตร์ ที่มีนักศึกษาราว 4 หมื่นคน ต้องปรับวิธีการเรียนการสอนสู่ระบบห้องเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงบางวิชาที่จำเป็นต้องเรียนในระบบห้องปฏิบัติการพิเศษ (แล็บ) โดยตัวเลขการใช้โปรแกรม Microsoft Teams ของธรรมศาสตร์ มากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ 

ปริญญา เห็นว่า โอกาสในวิกฤตครั้งนี้คือการสร้างมาตรฐานใหม่ในการศึกษา เพิ่มทางเลือกและศักยภาพในการเข้าถึงการเรียนการสอน ผ่านเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว

"จากเดิมการสอนออนไลน์เป็นแค่ของแถม มันจะกลายเป็นทางเลือกที่แท้จริงมากขึ้น” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์กล่าว

ในด้านที่พักอาศัย หอพักภายในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาอยู่ราว 1 หมื่นคน ธรรมศาสตร์ตัดสินใจใช้มาตรการ 'คืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าและลดค่าเช่า' รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจาขอความร่วมมือกับหอพักเอกชนภายนอกที่มีเด็กอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน เพื่อช่วยลดหย่อนค่าหอพักให้ได้มากที่สุด

กลุ่มลูกจ้างบริษัทต่างๆ เช่น แม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย มธ.แจ้งไปยังบริษัทแล้วว่า ‘ห้ามเลิกจ้างเด็ดขาด’ เช่นกันกับลูกจ้างและร้านอาหาร รวมถึงผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ มธ.ได้ออกมาตรการ ลดการเก็บค่าเช่าให้ทั้งหมด

“ถ้าเขาขายไม่ได้ก็ต้องไม่เก็บเขา ถ้าเคยขายได้ร้อย ตอนนี้เหลือครึ่งเดียวก็ต้องเป็นไปตามสัดส่วน จะไปเก็บเขาแบบเดิมไม่ได้” ปริญญาเล่าว่า ร้านอาหารในโรงอาหาร เปลี่ยนรูปแบบมารับสั่งอาหารออนไลน์ โดยให้วินมอเตอร์ไซค์ในมหาวิทยาลัยเป็นคนส่ง ราคาถูกเพราะเป็นราคาโรงอาหาร โดยรับส่งทั้งข้างในและข้างนอก ถ้าส่งในรั้วมหาวิทยาลัยบวกค่ามอเตอร์ไซค์แค่ 10 บาท ถ้านอกที่อยู่ฝั่งมหาวิทยาลัยค่าส่ง 20 บาท และถ้าฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย 30 บาท

วิน มธ.
  • บรรดารถสาธารณะเสียเงินเพียงค่าไฟ เดือนละ 400 บาทต่อคัน  

“การเดินทางในมหาวิทยาลัยแม้จะน้อยลงมากแต่ยังมีอยู่ รถโดยสารยังจำเป็น เราช่วยเขาให้ได้มากที่สุด ค่าเช่าที่เคยเก็บให้เหลือแค่ค่าไฟอย่างเดียวจากเดิมเสียกันคันละ 2,000 บาทต่อเดือนก็เหลือเพียงแค่ 400 บาท เพื่อช่วยบริษัทที่ดูแลสถานีขนส่ง”  

หลักการบริหารให้ช่วงวิกฤตคือ คิดถึงคนที่ด้อยกว่าเรา และอย่ารอดแค่เพียงตัวเอง 

“ต้องหาทางช่วยกัน ต้องคิดถึงคนที่เขารายได้น้อย คิดถึงคนที่เขาได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เราเอาตัวเองรอด เราต้องยอมลดส่วนของเราเพื่อคนอื่น แล้วเราจะช่วยได้”

รถตู้ มธ.

เตรียมพร้อมก่อนเกิดปัญหา

ธรรมศาสตร์ได้รับการพิจารณาว่ามีสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างโมเดลรูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงปรับเปลี่ยนอาคาร DLUX ความสูง 14 ชั้น จำนวน 308 ห้อง เป็นโรงพยาบาลสนาม

ผู้ป่วย COVID-19 ที่มีผลทดสอบเป็นบวกและได้รับการรักษาในโรงพยาบาลหลัก อย่างน้อย 5-7 วัน แล้วพบว่ามีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้จะถูกส่งมาที่โรงพยาบาลสนามดูแลต่อและสังเกตอาการจนผลตรวจการหาเชื้อเป็นลบ จากนั้นจึงจะถูกให้กลับบ้านตามขั้นตอน

 ภาพจากเฟซบุ๊ก Chatchai Mingmalairak
  • ภาพจากเฟซบุ๊ก Chatchai Mingmalairak

ปริญญา บอกว่า ธรรมศาสตร์มีความพร้อมจากบุคลากรและสถานที่ที่เหมาะสม ห้องพัก ระบบปรับอากาศที่ดี ทางเดินโปร่งโล่ง อากาศไหลเวียน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย มีการปรับปรุงการแยกโซนสะอาดและโซนติดเชื้อได้อย่างชัดเจน มีระบบรองรับในการป้องกันการปนเปื้อน รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียได้ตามมาตรฐานโรงพยาบาล

การดูแลผู้ป่วยจะมีระบบกล้องวงจรปิดสังเกตอาการ การพูดคุยผ่านระบบเทเล หากต้องเข้าไปในโซนผู้ป่วยต้องมีการแต่งตัวด้วยชุด PPE และการป้องกันตามมาตรฐาน มีการกำกับควบคุมทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกตึก

“การตั้งโรงพยาบาลสนามคือการบอกว่าเราเตรียมพร้อม เราจะไม่รอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมาตามแก้" เขาบอกว่า ผู้อยู่อาศัยเดิมภายในหอพัก DLUX จะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือในการขนย้ายและค่าเช่า

โรงพยาบาลสนาม ภาพจากเพจสาธิต ปิตุเดชะ.jpg
  • โรงพยาบาลสนาม ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สาธิต ปิตุเดชะ

ต้นทุนจากประสบการณ์ดูแลประชาชน

เมื่อถามว่าในยามวิกฤต เหตุใดธรรมศาสตร์ถึงจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน อธิบายว่าเพราะ “ประสบการณ์” ของบุคลากร ที่เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาภายใต้ภาวะวิกฤตของประเทศมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 ธรรมศาสตร์กลายเป็นศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ , เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือกระทั่งเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 พื้นที่ท้องสนามหลวงต้องรองรับประชาชนวันละหลายแสนคน มธ.ก็ตั้งศูนย์อาสาสมัครร่วมกับ กทม.จัดการขยะจำนวนมากในแต่ละวัน

"ผมคิดว่าธรรมศาสตร์เรามีประสบการณ์จัดการให้สถานการณ์วิกฤต มีบุคลากรที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมา มีคนที่เป็นจิตอาสาพร้อมลงมือช่วยอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้นธรรมศาสตร์เลยมีความพร้อมที่จะจัดการได้อย่างรวดเร็ว

เรามีจุดได้เปรียบอยู่แล้ว คำขวัญของเรา "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" จิตใจแบบที่ต้องนึกถึงคนอื่น มันอยู่กับพวกเรา ดังนั้นเราเลยมีต้นทุนที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ได้ง่าย เป็นจุดแข็งของเราอยู่เเล้วว่าต้องช่วยเหลือคนอื่น อย่าเห็นแก่ตัว"

ปริญญา บอกว่า ในเชิงกายภาพเราอาจจะ Social distancing หรือมี "ระยะห่างทางสังคม" เพื่อป้องกันโรค แต่ในสถานการณ์จริงเรายังต้องการ Social Solidarity หรือ ความเป็นปึกแผ่น อันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึงการช่วยเหลือส่งเสริมความเป็นอยู่ของส่วนรวมให้ดีขึ้นด้วย

"ตัวเราต้องห่างกัน แต่ได้ไม่หมายถึงความร่วมมือ" เขาบอกทิ้งท้าย “เป้าหมายในวิกฤตมีประการเดียว เราต้องผ่านโควิดไปด้วยกันให้ได้ และเราผ่านไปได้แน่นอนครับ”

ปริญญา เทวา


 

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog