เป็นเอกลักษณ์ ท้าขนบ เรียกร้องให้เกิดการตีความ คือสิ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีพานขนาดเล็กจิ๋ว ตัวฐานเป็นรถถัง และคลานเตาะแตะราวกับเด็กทารก เดินหน้าตั้งคำถามกับผู้พบเห็น
ในวาระที่ประชาธิปไตยไทยกำลังคุกรุ่น ชวนผู้อ่านย้อนไปดูความเป็นมาของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจ ผู้ช่ำชองในการหยิบของโบราณมาตีความใหม่ กับชีวิตเติบโตมาในสังคมและประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่บางคราวต้องใช้ ‘ศิลปะ’ แทนคำพูด
เริ่มต้นจากการเป็นเด็กที่ชื่นชอบในวิชาศิลปะ ก่อนจะก้าวเข้าสู่รั้วอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว นักรบเลือกที่จะประกอบอาชีพแบบไม่ตรงสาย ด้วยการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับนิตยสารแฟชั่น ในวาระเกือบสุดท้ายของวงการสิ่งพิมพ์
“เหมือนเป็นคนที่สอนตัวเอง ทำทุกอย่างขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เรารู้สึกว่ามันยากมากในการที่จะเชื่อว่าตัวเองสามารถทำงานศิลปะ ในสังคมที่ไม่ได้ให้ค่างานประเภทนี้ เราเริ่มต้นจากการเป็นนักทำภาพประกอบในยุคสุดท้ายก่อนแม็กกาซีนจะร่วงโรย เงินในแวดวงหนังสือจะเรียกว่าน้อยมากก็ได้”
ไม่ได้ใช้ฝีแปรง หรือปลายพู่กันในการแสดงออก แต่โดดเด่นด้วยการหยิบความสัมพันธ์ของแต่ละวัฒนธรรม มาผสมผสานกันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนกลายเป็นศิลปินที่มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง
“พื้นฐานเป็นคนชอบเก็บของเก่า โปสการ์ด แผนที่ และเติบโตมาในยุคที่นิตยสารเฟื่องฟู งานคอลาจตอบโจทย์และสะท้อนความเป็นตัวเราออกมา การนำของที่ดูไทย มาผสมกับตะวันตกหรือวัฒนธรรมอื่นๆ เล่นกับความหมายและความสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้ของที่ไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้เลยมาเข้าหากันได้
การที่หยิบจับเอาของเก่า ภาพวาด หรือโบราณวัตถุของไทยออกมาใช้ ในช่วงแรกก็จะมีคอมเมนต์ตามมาว่าไม่เหมาะสม ของไทยเราไม่ควรไปอยู่คู่กับวัฒนธรรมประเภทอื่น หรือใส่ความร่วมสมัยเข้าไป พอเผยแพร่งานออกไปก็จะมีผลตอบรับแบบคาดไม่ถึง บอกว่าห้ามตัดรูปนั้นรูปนี้ บอกว่างานของเราเป็นเรื่องอันตราย เป็นการทำลายวัฒนธรรม”
เพราะศิลปะเรื่องที่แล้วแต่บุคคลในการใช้ประสบการณ์ และมุมมองของตัวเองในการตีความเนื้อหาที่ศิลปินสื่อออกมา นักรบ บอกว่า เขาไม่ได้ตั้งใจให้งานตลก หรือมีความคิดที่จะลบล้างวัฒนธรรมอะไร วิธีการของเขาคือใส่ความร่วมสมัยลงไปต่างหาก
“รู้สึกได้ว่ามันมีความเสรีในการดูงานศิลปะ ทุกคนไม่จำเป็นต้องมองอะไรให้เหมือนกัน และไม่มีอะไรถูกอะไรผิดด้วย ไม่ควรจะมีคนมาตัดสินว่างานชิ้นนี้คือพูดถึงเรื่องนี้เท่านั้น บางคนอาจจะมองว่าเป็นโจ๊ก บางคนเห็นว่าซีเรียส มันมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในนั้น ไม่มีธงว่าถูกหรือผิด”
ศิลปินวัยหนุ่มเชื่อว่าทุกคนมีจิตวิญญาณของศิลปะ แต่ระบบความคิดหลายๆ อย่าง ผลักให้คนออกมาจากตรงนั้น
“เราอยู่ในกรอบที่ต้องวาดหมาให้เป็นหมา วาดแมวให้เป็นแมว ต้องทำการ์ดวันพ่อวันแม่ และจัดบอร์ดในวันสำคัญทางศาสนา หรือทำชิ้นงานส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม สิ่งนี้มันเกลี่ยให้คนออกไปจากศิลปะ การทำตามกรอบ และรูปแบบเดิมๆ ทำให้มันไกลตัว สังคมนี้ไม่ได้เห็นงานศิลปะและมุมมองที่หลากหลาย”
คนทั้งโลกบอกว่าโมนาลิซ่าสวย ถ้าเกิดว่าเราไม่ได้เห็นอย่างนั้นจะรู้สึกผิดอยู่ในใจหรือเปล่า รู้สึกว่าเข้าไม่ถึงศิลปะหรือเปล่า เราว่ามันต้องปลดล็อกตรงนี้ก่อนเลย
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันคุกรุ่น เราเห็นความเคลื่อนไหวจากหลายวงการ ในกลุ่มศิลปินเองก็มีการสร้างผลงานออกมาวิพากษ์ทางการเมืองมากขึ้น นักรบบอกว่า หากย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ศิลปะมีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด
“สมัยก่อนศิลปะจะเป็นงานพร็อพพาแกนดา รับใช้ระบบกลไกทางศาสนาหรือการเมือง แต่ทุกวันนี้เรามีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น เราใช้ศิลปะในการตั้งคำถาม แสดงออกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ศิลปะไม่ได้พูดแต่เรื่องสวยงาม หรือเรื่องในอุดมคติเท่านั้น เพราะทุกสิ่งไม่ได้สวยงามไปทั้งหมด”
ถ้ามีรากฐานทางความคิดแข็งแรงและครอบคลุมมากพอ งานจะออกมามีมิติมากกว่าเดิม และจะไม่ตัดสินความคิดของคนอื่นว่าเป็นเรื่องโง่
ด้วยกลไกของงานศิลปะ ที่เป็นเสียงสะท้อนสังคม นักรบ มองว่า การศึกษาเรื่องที่ต้องการจะพูดอย่างถ่องแท้และรอบด้านคือสิ่งที่จำเป็นมาก
“สิ่งหนึ่งที่ยึดถือ และอยากให้คนทำงานสร้างสรรค์หรืองานอะไรก็ตามแต่คำนึงไว้คือ การที่คุณจะพูดอะไรออกมา คุณต้องมั่นใจก่อนว่าเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างรอบด้านและมีข้อมูลมากพอ ถ้าเสพข้อมูลไม่หลากหลายงานอาจจะออกมาด้านเดียว มิติด้านความหมายก็แบนราบ”
ด้วยกรอบแห่งการตีความที่หลากหลาย นักรบ มองว่าศิลปะสามารถพูดได้ทุกเรื่อง และในปัจจุบันที่เป็นโลกของโซเชียลมีเดียเสียงของทุกคนกำลังมีความหมายมากขึ้น
“ศิลปะไม่ใช่อะไรที่พูดออกมาตรงๆ แต่พูดออกมาทีหนึ่งก็สามารถสะเทือนไปทั้งโลกผ่านแพลตฟอร์มอย่างโซเชียลมีเดีย ทุกคนออกมาพูดเถอะเพราะมีคนเห็นสิ่งที่คุณทำอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ายิ่งมีคนมาเซ็นเซอร์สิ่งเหล่านี้ ยิ่งทำให้ข้อความมันกระจายไปมากกว่าเดิมเสียอีก คนตามลบน่าจะเครียด เพราะเดี๋ยวนี้มีคนทำเยอะไปหมด ทำไปเถอะ (หัวเราะ) ทางหนีที่ไล่มีเยอะ”
โซเชียลมีเดีย ที่เจริญเติบโตมาพร้อมๆ กับคนรุ่นใหม่ มอบพื้นที่ในการแสดงออกทางความเห็นได้อย่างหลากหลาย ในฐานะศิลปินที่ติดตามการเมืองมาโดยตลอด นักรบเห็นว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้คนใกล้ชิดทั้งการเมืองและศิลปะมากขึ้น
“ตอนเด็กๆ ที่เรายังไม่มีโซเชียลมีเดีย ภาพการเมืองในหัวของเราคือการถ่ายทอดสดการประชุมสภา ที่พูดเรื่องงบประมาณบ้าบออะไรก็ไม่รู้ พรบ. พรก. อะไรก็ไม่รู้เรื่อง การเข้ามาของแพลตฟอร์มนี้ช่วยได้มาก มีทั้งคนสรุปประเด็น ลุกขึ้นมาทำแคมเปญ หรือศิลปินก็มาทำภาพเพื่อช่วยสร้างการรับรู้ในเรื่องต่างๆ
เราเห็นความคิดและวิธีการแสดงออกของเด็กๆ ในโซเชียลมีเดีย รู้สึกคารวะ (หัวเราะ) แต่การที่มีคนมาดูถูกว่าเด็กโดนปลุกปั่น ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง หรือโดนชักใยเป็นความคิดที่ดูถูกสติปัญญาพวกเขามาก”
“เราอาจจะอยู่ในยุคที่มันริบหรี่ที่สุด” นักรบ กำลังพูดถึงประชาธิปไตย ที่เขามองว่าเกือบจะไร้ความหวังแต่เต็มไปด้วยความตื่นตัว
“แค่หวังว่าจะอยู่ในโลก ในสังคม ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่านี้ ทุกคนสามารถจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าได้ แน่นอนว่าที่นี่ (ประเทศไทย) ไม่ได้แย่ไปทุกมิติขนาดนั้น มองว่ามันยังเป็นไปได้”
เมื่อความหวังของเสรีภาพ จะถูกประทับตราลงบนเสื้อยืดในวาระครบรอบ 11 ปี วอยซ์ทีวี นักรบ มูลมานัส ตีความประชาธิปไตยร่วมกับความทรงจำตัวเองออกมาเป็นอนุสาวรีย์ไทยที่มีตัวพานเล็กจิ๋ว มีปีกรัฐธรรมนูญที่แปลกตา ตัวฐานกลายเป็นรถถัง และกำลังคลานสี่ขาราวกับเด็กแรกเกิด
“ประชาธิปไตยไทยคล้ายกับสิ่งเหล่านี้เลย ขับเคลื่อนด้วยระบบทหาร เกิดมาตั้ง 80 กว่าปีแล้ว ยังเตาะแตะล้มลุกคลุกคลาน อยากตั้งคำถามว่าเราควรมีประชาธิปไตยที่สากลมากกว่านี้หรือเปล่า”