ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่ดูเหมือนว่าไทยจะมีความพยายามลดขยะพลาสติกในประเทศลง แต่ พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่อาจดูดขยะพลาสติกต่างชาติมาลงที่ไทย

เมื่อเดือนเมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบร่างโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการรวมถึงการยกเลิกการใช้พลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟม แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 แต่เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิวชี้ว่ามาตรการลดพลาสติกดังกล่าวอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อ พ.รบ. โรงงาน ที่แก้ไขใหม่นั้นเปิดช่องให้ทั่วโลกเทขยะพลาสติกมาทิ้งที่ประเทศไทย

สาระสำคัญของพ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่นี้ มีการปรับเปลี่ยนบางมาตราของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 โดยในมาตรา 4 ได้แก้นิยามคำว่า 'โรงงาน' ใหม่ ให้หมายถึง อาคาร สถานที่ ยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรกำลังรวม 50 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 50 คนขึ้นไป ขณะที่ตาม พ.ร.บ. โรงงานเดิมนั้น นิยามว่ามีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือใช้คนงาน 7 คนขึ้นไป ก็นับว่าเป็น 'โรงงาน' แล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้โรงงานขนาดเล็กเล็ดรอดจากการตรวจสอบการทิ้งขยะและมาตรการควบคุมมลพิษ

ทางนิกเคอิเอเชียนรีวิว รายงานว่ามีการคาดการณ์ว่าโรงงานกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จาก 60,500 แห่งที่มีการจดทะเบียนในไทย จะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายนี้ รวมถึงบริษัท 7 แห่งที่มีใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการรีไซเคิล

ในรายงาน 'ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' ขององค์กรกรีนพีซ ระบุว่าไทยนำเข้าขยะพลาสติกมากขึ้นจากเดิม 69,487 ในปี 2559 สูงขึ้นเป็น 481,381 ตันในปี 2561 เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากมาเลเซียและเวียดนาม

รายงานเดียวกันนี้ยังเผยอีกว่าในระหว่าง ปี 2559-2561 การนำเข้าขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตัน เป็น 2,265,962 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ เป็นผลจากการที่ประเทศจีน ผู้นำเข้าขยะรายใหญ่ที่สุดของโลกตัดสินใจห้ามนำเข้าขยะมาตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยมาเลเซีย เวียดนาม และไทย กลายเป็นเป้าหมายแรกของขยะพลาสติก

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ประเทศอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ ได้ส่งขยะในตู้คอนเทนเนอร์ 69 ใบ กลับคืนไปยังประเทศแคนาดา และถึงท่าเรือเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดาแล้วในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ทางด้านมาเลเซียได้ประกาศในวันที่ 29 พฤษภาคมว่าจะส่งคืนขยะพลาสติก 450 ตัน ไปยังประเทศที่ส่งมาอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

"มาเลเซียจะไม่ยอมเป็นบ่อขยะของโลก" เยียวบียิน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของมาเลเซีย กล่าว

พ.ร.บ. โรงงานนี้ยังซ้ำเติมปัญหาที่เกิดจาก คำสั่ง คสช. 4/2559 ซึ่งผ่อนปรนให้หน่วยงานรัฐสามารถอนุญาตการประกอบกิจการในประเภทโรงไฟฟ้าขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย โรงงานรีไซเคิล คัดแยก ฝังกลบ และฝังกลบขยะ โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งคุ้มครองพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ทำให้เกิดมลพิษในชุมชนที่อยู่อาศัย และเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชันระหว่างหน่วยงานรัฐกับบริษัทเอกชน

ทางด้านองค์กรไอลอว์ชี้ว่า หลังคำสั่งดังกล่าวออกมา เตาเผาขยะสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในระยะเวลา 1 ปี ทางนิกเคอิรายงานอีกว่าจากข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ฉะเชิงเทรามีโรงงานที่รับขยะพลาสติกมารีไซเคิล 159 แห่ง สมุทรปราการมี 663 แห่ง และสมุทรสาครมี 924 แห่ง

ทั้งนี้ พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562

ที่มา: Nikkei Asian Review

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: